- ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์
- สิรวิชญ์ รัตนประทีปทอง
กระบวนการตรวจโรค Covid-19 ตามเงื่อนไขของรัฐบาลไทยซึ่งต้องระมัดระวังอย่างเข้มงวดเพราะมีความเสี่ยงสูงของการแพร่เชื้อ Covid-19 รอบสองในไทยได้
ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในอาเซียนที่มีคนย้ายถิ่นออก (emigration) น้อยกว่าการย้ายถิ่นเข้าประเทศ (immigration) ในปี 2562 มีคนไทยย้ายถิ่นออกไปทำงานมากกว่า70 ประเทศทั่วโลกแต่มีจำนวนเพียงประมาณ 113,801 คนแตกต่างจากจำนวนย้ายถิ่นเข้ามาทำงานในประเทศไทยมีจำนวนมากถึง 3,005,376 คนในปีดังกล่าวทำให้จำนวนย้ายถิ่นสุทธิของไทยติดลบจำนวน 2,891,575คนโดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านคือ เมียนมา สปป.ลาวและกัมพูชา โดยทำงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะสูงมากนัก (ตารางที่ 1)
รายงานฉบับนี้ให้ความสำคัญกับแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2539จากจำนวนไม่ถึงแสนคนในปีดังกล่าวปัจจุบันนี้มีแรงงานกลุ่มนี้มากกว่า 3ล้านคนทำงานกระจายอยู่ทั่วประเทศเกือบทุกจังหวัด(ภาพที่ 1)
อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดปัญหาการระบาดของ Covid-19 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งพบผู้ป่วยเป็นรายแรกประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาการระบาดของโคโรนาไวรัสเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในแต่ละเดือน ประเทศไทยประกาศใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้นตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2563 ผ่านการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นหลัก มาตรการต่างๆ ตั้งแต่ประกาศสั่งปิดกิจการและสถานที่เสี่ยงชั่วคราวประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานทั่วประเทศในช่วงเวลา 22.00 น. ถึง 04.00 น. และประกาศห้ามทุกสายการบินเดินทางมาประเทศไทย เป็นต้น
จากมาตรการสั่งปิดสถานที่เสี่ยง 26 ประเภทและห้ามสายการบินเข้าประเทศส่งผลกระทบต่อสถานประกอบการและการจ้างงานในสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องอย่างรุนแรงหลายหน่วยงานประเมินว่าแรงงานไทยสุ่มเสี่ยงที่จะตกงานมากกว่า 8 ล้านคนภายในปี 2563 นี้ แต่ยังไม่มีข้อมูลแสดงผลกระทบต่อแรงงานต่างด้าวจากการสั่งปิดสถานประกอบการดังกล่าวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องผู้เขียนจึงได้ศึกษาเรื่องนี้
จากตารางที่ 2 จะพบว่าแรงงานต่างด้าวประมาณ 3 ล้านคนเมื่อปลายปี 2562 เปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2563 ลดลงไปมากกว่า 5 แสนคนหรือร้อยละ 18โดยจำนวนที่หายไปเป็นแรงงานเข้ามาทำงานตามมาตรา 62 มาตรา 63 และมาตรา 64 รวมกันเพียงประมาณ 73,924 คน แต่ที่ลดลงมากคือแรงงานต่างด้าวตามมาตรา 59 ประเภทพิสูจน์สัญชาติและประเภทนำเข้าตาม MoU รวมกันลดลง 447,536คนส่วนนี้จะได้วิเคราะห์ต่อไปว่าพวกเขายังอยู่ในประเทศไทยเพื่อรอเจ้าหน้าที่ในประเทศของเขามาพิสูจน์สัญชาติให้หรือเดินทางกลับไปประเทศก่อน แต่ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเพราะแรงงานต่างด้าวเหล่านี้อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นผู้แพร่เชื้อ (spreader)
ตารางที่ 3 เป็นการเปรียบเทียบแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ เมียนมา ลาว และกัมพูชาช่วง 6 เดือนก่อนและหลังเกิดการระบาดของ Covid-19 (ช่วงกรกฎาคมถึงธันวาคม 2562 กับช่วงมกราคมถึงมิถุนายน 2563) ในช่วงภาวะปกติ 6 เดือนก่อนเกิดการแพร่ระบาด จำนวนแรงงาน 3 สัญชาติเปลี่ยนแปลงไม่มากแต่ลดลงอย่างต่อเนื่องหลังเกิดการแพร่ระบาดตั้งแต่ช่วงมกราคมจนถึงมิถุนายน 2563
จากการเปรียบเทียบจำนวนแรงงานต่างด้าวระหว่าง 6 เดือนก่อนและหลังเริ่มมีการแพร่ระบาดพบว่าค่าเฉลี่ยจำนวนแรงงาน 3 สัญชาติ 6 เดือนหลังเกิดการแพร่ระบาดต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 6 เดือนแรกถึง 310,016 คนแต่ถ้าวัดความแตกต่างระหว่างเดือนที่เพิ่งเริ่มเกิดการระบาดของ Covid-19 กับเดือนที่ระบาดหนักคือมกราคมกับ มิถุนายน 2563 จะพบว่าแรงงานต่างด้าวลดลง 453,872 คนหรือ ลดลงร้อยละ 16.7ซึ่งไม่แตกต่างจากอัตราส่วนที่ลดลงของแรงงานต่างด้าวในตารางที่ 2 มากนัก
ที่น่ากังวลคือแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้อยู่ในระบบทะเบียนของกระทรวงแรงงานจะยังอยู่ในประเทศไทยหรือไม่ จากภาพที่ 1 พบว่าแรงงานต่างด้าวที่ลดลงนั้นมีอยู่ทุกจังหวัดในประเทศไทยถ้าพิจารณาในมิติของกฎหมาย แรงงานต่างด้าวเหล่านี้จะกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายเนื่องจากไม่มีนายจ้าง และถ้าจะกลับประเทศก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากหลายจังหวัดอยู่ไกลจากชายแดนมากและถ้าจะกลับจริงๆ ต้องผ่านมาตรการตรวจสอบและป้องกันการแพร่ระบาดตามแนวชายแดน ซึ่งประกอบด้วยการตรวจยืนยันว่าปลอดโรค Covid-19และกักตัวอีก 14 วันเมื่อข้ามกลับมาใหม่
จากจำนวนแรงงานต่างด้าวลดลง 4-5 แสนคน คาดว่าเกิดจากสาเหตุดังนี้ และยังมีประเด็นที่น่ากังวลอื่นๆที่จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
- นายจ้างปิดกิจการหรือลดขนาดการจ้างงานหลังจาก ศบค. เห็นชอบในการผ่อนปรนให้ทุกประเภทกิจการเปิดตัวได้จะมีบางส่วนของแรงงานต่างด้าวได้ทำงานต่อในไทยแต่ถ้านายจ้างเดิมปิดกิจการหรือกลับมาจ้างงานจำนวนน้อยลง แรงงานต่างด้าวจำนวนมากจะถูกเลิกจ้าง จะต้องมีมาตรการรองรับแรงงานกลุ่มนี้อย่างไร
- แรงงานต่างด้าวบางกลุ่มยังคงอยู่ในประเทศเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศต้นทางและกลับมาใหม่สูงมาก
- แรงงานต่างด้าวบางส่วนที่อยู่อย่างผิดกฎหมายมีแนวโน้มตัดสินใจกลับบ้านเพื่อกลับเข้ามาใหม่อย่างถูกต้องซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าเมื่อไหร่พวกเขาจะได้กลับมาทำงานในประเทศไทยอีกครั้ง
- แรงงานที่ตกค้างจากมติ ครม. เมื่อ 22 กรกฎาคม 2563 จะสามารถอยู่ในประเทศต่อไปอีก 2 ปี แต่จำเป็นต้องหานายจ้างใหม่ให้ได้โดยเร็วโดยเฉพาะข้อจำกัดเกี่ยวกับเงื่อนไขการเปลี่ยนนายจ้าง
อย่างไรก็ตามที่น่าเป็นห่วงคือแรงงานที่ตกค้างอยู่มากกว่า 3 เดือน นับตั้งแต่เดือนเมษายน มีแนวโน้มไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูง ทั้งจากค่าเช่าห้อง ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์เป็นต้นมีความเป็นไปได้สูงที่จะลดค่าใช้จ่ายโดยการย้ายมาอยู่รวมกันจำนวนมากจนกว่าจะได้กลับมาทำงานตามปกติ ทำให้แรงงานกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการติดต่อหรือแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสูงขึ้น อาจทำให้เกิดการระบาดระลอก2 ได้
ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) เมื่อ 20 กรกฎาคม 2563 ได้ตกลงผ่อนผันแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทย 4 กลุ่มให้ทำงานต่อไปในประเทศไทยได้คือ
- คนต่างด้าว 3 สัญชาติ กัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ซึ่งครบวาระจ้างงาน 4 ปี
- ต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ ถือเอกสารประจำตัว ได้แก่ หนังสือเดินทาง (Passport : PP) เอกสารเดินทาง (Travel Document : TD) เอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity : CI) ที่มีใบอนุญาตทำงาน และได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดช่วง 30 ก.ย. 2562ถึง 30 มิ.ย. 2563 แต่ไม่ได้ดำเนินการตามมติ ครม.เมื่อ 20 ส.ค. 2562
- ต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เข้ามาทำงานตาม MoU ที่การอนุญาตทำงานสิ้นสุดโดยผลของกฎหมายตามมาตรา 50มาตรา 53 และมาตรา 55 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว
- คนต่างด้าวที่ใช้บัตรผ่านแดน (Border Pass)ตามความตกลงว่าด้วยการข้ามแดน ซึ่งเข้ามาทำงานในลักษณะไป-กลับตามฤดูกาลตามมาตรา 64
แรงงานต่างด้าวทุกกลุ่มจะได้รับอนุญาตให้ทำงานต่อไปในประเทศไทยได้โดยจะไปสิ้นสุดที่เวลาเดียวกันคือวันที่ 31 มีนาคม 2565
ขั้นตอนในการต่ออายุและการขออนุญาตทำงาน
แรงงานต่างด้าวกลุ่มที่ 1 – 3
- จะต้องยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานกับกรมการจัดหางาน ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2563
- ตรวจสุขภาพ/ซื้อประกันสุขภาพและขอตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร (Visa)
- ทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู)จะได้รับอนุญาตให้ทำงานได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565
แรงงานต่างด้าวกลุ่มที่ 4
- ยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานกับกรมการจัดหางาน ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2563
- ตรวจสุขภาพ/ซื้อประกันสุขภาพ
โดยใบอนุญาตทำงานมีอายุครั้งละ 3 เดือน แต่สามารถขอต่อเนื่องได้ไม่เกินวันที่ 31 มีนาคม 2565 เช่นเดียวกัน
สำหรับแรงงานต่างด้าวที่จะนำเข้ามาเพิ่มเติมสำหรับแรงงานที่มีเอกสารบางส่วนและผู้ที่นายจ้างแจ้งความจำนงที่จะนำเข้ามาใหม่ โดยแรงงานต่างด้าวที่ ศบค. เห็นชอบต่ำกว่าความต้องการมาก
- นายจ้าง/สถานประกอบการยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว 1,266,351 คน(ปี 2562-2563, ข้อมูล ณ 15 มิ.ย. 2563)
- ประกอบด้วย สัญชาติเมียนมา 1,002,309 คน กัมพูชา 213,461 คน ลาว 50,581 คน
- ได้จัดทำใบอนุญาตให้แล้ว 774,983 คน อยู่ระหว่างดำเนินการ 491,368 คน โดยสามารถดำเนินการได้ถึง 30 พ.ย. 2563
การผ่อนผันแรงงานต่างด้าวเข้า-ออกประเทศไทย
- ศบค. ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เฟสต่อไปและอนุญาตให้สามารถนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาทำงานตามระบบ MoU
- มาตรการความปลอดภัยทางสาธารณสุข ต้องให้ตรวจหาเชื้อ Covid-19และกักตัว 14 วันก่อนออกใบอนุญาตทำงาน ซึ่งนายจ้างต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย 13,200-19,300 บาทต่อคน ตามประเภทกลุ่มและประเภทกิจการ
มาตรการใช้สำหรับแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ
มาตรการใช้สำหรับแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (เมียนมา ลาว และ กัมพูชา) ที่ศบค. เห็นชอบ 22 กรกฎาคม 2563 แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่มี และไม่มีใบอนุญาตทำงาน
แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่มีใบอนุญาตทำงานและมีวีซ่าทำงานอยู่ซึ่งได้ขอวีซ่ารักษาสิทธิใบอนุญาตทำงาน (Re-Entry Visa) เพื่อเดินทางกลับประเทศแล้วยังไม่ได้กลับเข้ามา จำนวน 69,235 คน
- การนำเข้าเฉพาะกลุ่มแรงงานที่ผ่านกระบวนการ MoU เท่านั้น
- ช่องทางการเข้าประเทศของแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา คือ จ.สระแก้ว สัญชาติลาว คือ จ.หนองคาย และสัญชาติเมียนมา คือ จ.ตาก และ จ.ระนอง
- แรงงานต่างด้าวต้องได้รับหนังสือรับรองว่าเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้ และมีใบรับรองแพทย์ (Fit to Travel)
- ตรวจคนเข้าเมืองตรวจเอกสารการอนุญาตเข้าประเทศและตรวจลงตราวีซ่า
- ซื้อประกันสุขภาพ 2 ปี(กรณีกิจการที่ไม่เข้าประกันสังคม) หรือประกันสุขภาพ 3 เดือน (กรณีกิจการต้องเข้าประกันสังคม)
- แรงงานต่างด้าวต้องเข้ารับตรวจการตรวจหาเชื้อ Covid-19ทันที ณ ด่านควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข และต้องเข้ารับการกักตัว 14 วันในสถานกักกันของรัฐในระดับจังหวัด (ALQ)
- นายจ้างต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายรวม 13,200-19,300 บาทต่อคน
- อนุญาตให้ทำงาน 2 ปี (สิ้นสุด 31 มีนาคม 2565)
แรงงานต่างด้าวที่ยังไม่มีใบอนุญาตทำงานที่นายจ้างยื่นขอนำเข้าใหม่ มีขั้นตอนดังนี้
- ช่องทางการเข้าประเทศของแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา คือ จ.สระแก้ว สัญชาติลาว คือ จ.หนองคาย และสัญชาติเมียนมา คือ จ.ตาก และ จ.ระนอง
- ด่านตรวจคนเข้าเมืองตรวจเอกสารการอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศแล้ว แรงงานต่างด้าวต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อ Covid-19และตรวจสุขภาพ 6 โรค
- ซื้อประกันสุขภาพ 2 ปี(กรณีกิจการที่ไม่เข้าประกันสังคม) หรือประกันสุขภาพ 3 เดือน (กรณีกิจการต้องเข้าประกันสังคม)
- เข้ารับการกักตัว 14 วันในสถานกักกันของรัฐในระดับจังหวัด (ALQ)
- ขณะที่อยู่ในสถานที่กักกันฯ จะมีการอบรมให้ความรู้ด้านกฎ ระเบียบ และการใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยแก่คนต่างด้าวก่อนเข้าทำงาน ตามขั้นตอนการนำเข้าฯ
- เมื่อครบกำหนด 14 วัน จะได้รับการตรวจลงตราวีซ่าจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง และได้รับใบอนุญาตทำงานจากศูนย์แรกรับและสิ้นสุดการจ้าง
- นายจ้างต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย 13,200-19,300 บาทต่อคน
- อนุญาตให้ทำงาน 2 ปี
ข้อเสนอที่ให้รัฐแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย
การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวใช้ตัวแบบจาก Chinese Taipei หรือไต้หวันโมเดลซึ่งต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวเหมือนกับประเทศไทยนอกจากนั้นยังมีคนไทยเดินทางไปทำงานในประเทศนี้หลายหมื่นคน เมื่อแรงงานได้รับการตรวจCovid-19 จากประเทศผู้ส่งออกแรงงาน เมื่อทุกคน Fit to Fly ก็จะเดินทางมายังไต้หวันเมื่อมาถึงทางการไต้หวันจะทำการกักตัวแรงงานนำเข้าทุกคนรวม 14 วันโดยรัฐชดเชยให้ 2 ใน 3 จากค่าใช้จ่ายในการกักตัวโดยมีรายละเอียดดังนี้
- ต้องไปกักตัวในสถานที่กักตัวรวมของกระทรวงสาธารณสุข 14 วัน โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายวันละ 1,500 เหรียญไต้หวันต่อคนต่อวัน ค่าใช้จ่ายนี้ประกอบด้วยค่าที่พัก ค่าอาหาร 3 มื้อและค่าดูแลสุขภาพ 14 วันเป็นเงิน 21,000 เหรียญ เงินก้อนนี้ นายจ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
- หลังจากแรงงานต่างชาติกักตัว 14 วันแล้ว กระทรวงแรงงานจะมีหนังสือถึงนายจ้างเพื่อให้ไปชำระเงิน โดยนายจ้างจะหักค่าใช้จ่ายส่วนนี้จากแรงงานต่างชาติไม่ได้
- หลังพ้นการกักตัว 14 วัน สามารถยื่นขอรับเงินชดเชยจากรัฐบาลได้ ในอัตราวันละ 1,000 เหรียญไต้หวันรวมเวลา 14 วัน รวมเป็นเงิน 14,000 เหรียญภาระค่าใช้จ่ายจริงของนายจ้างประมาณ 7,000 เหรียญ (นายจ้างรับภาระเหลือ 1 ใน 3 จากค่าใช้จ่ายรวม)
- ในเรื่องสถานกักตัว 14 วัน (พักห้องละ 1 คน) มีเวรยามตลอด 24 ชั่วโมง และค่าอุปกรณ์ค่าเชื้ออื่นๆ โดยนายจ้างจะหักค่าใช้จ่ายส่วนนี้จากลูกจ้างไม่ได้
ข้อเสนอการกักตัวสำหรับประเทศไทย
ควรปรับให้เหมาะสมตามความสะดวกโดยให้หาพื้นที่กักตัวของนายจ้างหรือ Organization Quarantine (OQ) โดยกำหนดข้อจำกัดและเงื่อนไขต่างๆ ดังนี้
- การกักตัวแยกจะทำที่ไหน ควรมีเกณฑ์อย่างไรบ้าง และใครเป็นผู้ดูแลอนุญาต
- สามารถรองรับจำนวนคนที่พอเหมาะต่อเวลาและสถานที่ เช่น ภายในปีนี้ เข้ามาหลายแสนคน จะเตรียม OQ กันอย่างไร เช่น ต้องเพิ่มเติม Local Quarantine (LQ) ที่ไหนจำนวนเท่าไร
- ปรับลดต้นทุนค่าใช้จ่ายสำหรับการกักตัวให้ต่ำลง จาก 1,500 ต่อคนต่อวันให้เหลือ 1,000 บาทต่อคนต่อวัน
- พิจารณาตามหลักการป้องกันเชิงสุขภาพควบคู่ด้วย เช่นสามารถให้กักตัวแบบอยู่สองคน (เหมือนสามีภรรยา มี distancing) ถ้าทำได้ค่าใช้จ่ายต่อคนน่าจะไม่ถึง 1,000 บาท
สรุปประเด็นปัญหาที่ต้องจับตามอง
- แรงงานต่างด้าวกลุ่มที่ 3 ถือเป็นแรงงานกลุ่มเสี่ยงที่จะมีสถานะผิดกฎหมาย/หรือไม่มีนายจ้างไประยะหนึ่งในช่วงที่ Covid-19ระบาดอย่างหนักและทางรัฐบาลใช้นโยบายปิดกิจการสถานบริการในภาคบริการโดยเฉพาะลูกจ้างในสถานประกอบการ
- ธุรกิจค้าส่ง/ค้าปลีก (ทำงานห้าง) ซึ่งได้รับผลกระทบจากลูกค้านักท่องเที่ยวที่ลดลง/และลูกค้าคนไทยลดลง) และสินค้าอาหารและบริการเสริมสวยตัดผม บริการนวด และความงามต่างๆ ต้องปิดตัว และเพิ่งมาเริ่มเปิดตัวเมื่อการผ่อนผันระยะที่ 3 ซึ่งแรงงานต่างด้าวในภาคบริการถูกกระทบทันทีจำนวนกว่า16,000 คน (จำนวนแรงงานต่างด้าวที่ลดลงระหว่างมีนาคมและพฤษภาคม 2563 รายภาคธุรกิจ จากสถิติจำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร โดยกรมการจัดหางาน)
- อีกกลุ่มหนึ่งเป็นลูกจ้างต่างด้าวที่ทำงานในกิจการต่อเนื่องประมงทะเลกว่า 12,000 คนและกิจการแปรรูปสัตว์น้ำกว่า 10,000 คน
- กลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุดคือ กลุ่มโรงแรมภัตตาคารและร้านอาหาร ซึ่งนักท่องเที่ยวหายไปมากกว่าร้อยละ 80กระทบกิจการร้านค้าร้านอาหารและภัตตาคาร และสถานเสริมสวยความงาม นวด สปา wellness และออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ รวมทั้งสถานประกอบการที่อยู่ในย่านนักท่องเที่ยว สถานบันเทิง สถานอาบอบนวด ซึ่งเพิ่งเปิดให้บริการได้ในการผ่อนผันของ สบค. ในระยะที่ 5
- ถ้าจะนับเวลาจากเดือนมีนาคม-กรกฎาคม เป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้เป็น 2 ช่วง ช่วงมีนาคม-พฤษภาคม ช่วงนี้ยังอยู่ในระยะเยียวยา 3 เดือน รวมเป็นเงิน 15,000 บาท สำหรับคนไทยที่ได้รับผลกระทบแต่ระยะเวลาดังกล่าวนี้แรงงานต่างด้าวไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ จากรัฐบาล
- แรงงานเหล่านี้ต้องพึ่งเงินออมของตัวเองและได้รับคำยืนยันจากนายจ้างว่าให้รองานเมื่อ ศบค. ผ่อนผันให้เปิดกิจการ โดยกลุ่มที่เปราะบางที่สุดเป็นกลุ่มที่ 2 และ 3 ที่ส่วนมากเป็นลูกจ้างรายวันไม่มีสัญญาจ้างอย่างเป็นทางการจึงต้องอยู่ด้วยตัวเองอย่างประหยัด
ประเมินรายการค่าใช้จ่ายของแรงงานต่างด้าวได้ดังนี้
ดังนั้นแรงงานต่างด้าวจะต้องมีเงินอย่างน้อย 15,000-21,000 บาท เพื่อให้อยู่ได้พอสมควรในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่านายหน้า เงินที่จะส่งกลับบ้าน เป็นต้น
- ช่วงเวลาเดือนมิถุนายนถึง สิงหาคม เป็นช่วงสุดท้ายของเงินเยียวยา สำหรับแรงงานไทยและสถานประกอบการไทยเริ่มเปิดตัวได้ทุกประเภทจากการผ่อนผันของ ศบค. อยู่ในระยะที่ 5 ถึง 6 แต่ยังมีเงื่อนไขของ social distancing และการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดจากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องอยู่ ทำให้สถานประกอบการเปิดให้บริการได้ไม่เต็มที่ อาจจะเปิดได้ร้อยละ 30 ถึงร้อยละ 70 แต่สำหรับแรงงานต่างด้าวยังต้องเผชิญกับปัญหาส่วนหนึ่งกลายสภาพเป็นแรงงานไร้นายจ้าง เนื่องจากสถานประกอบการยังไม่เปิด เปิดได้บางส่วน หรือปิดกิจการ
- แรงงานเหล่านี้ยังสามารถอยู่ในประเทศไทยได้จนถึงระยะเวลาผ่อนผันการจดทะเบียนยังไม่สิ้นสุด (สิ้นสุดราวมกราคม 2564)ถึงจะได้รับการผ่อนผันให้อยู่ แต่ถ้าไม่มีนายจ้างก็จะกลายเป็นคน “ไร้ราก” สุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย และถ้าหานายจ้างใหม่ยังไม่ได้ เพราะว่ากฎหมายยังไม่ผ่อนผันให้เปลี่ยนนายจ้าง (จะเปลี่ยนได้ต่อเมื่ออยู่ในภาวะวิกฤติ คือถูกกดขี่ข่มเหง ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง และ/หรือนายจ้างใหม่ยินยอมรับ แต่ต้องใช้หนี้ให้นายจ้างเก่าให้หมดก่อน เป็นต้น)
- แรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้ตกอยู่ในกลุ่มที่ 2-3 และหากไม่มีเงินออม อาจจะต้องลดค่าใช้จ่าย ย้ายมาอยู่ด้วยกันเพื่อลดค่าใช้จ่าย แม้ว่าทางกระทรวงแรงงาน โดย สบค. จะเปิดโอกาสให้จดทะเบียนใหม่ได้ แต่ก็ยังมีปัญหาข้างต้นอยู่ดี
ข้อเสนอแนะ
- เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเปลี่ยนนายจ้างเพื่อให้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างสามารถหานายจ้างได้ใหม่อย่างถูกกฎหมาย นอกจากความเสี่ยงด้านการแพร่ระบาดที่ต่ำกว่าแรงงานที่นำเข้ามาใหม่ โดยหลักการแล้วแรงงานกลุ่มนี้ยังเป็นแรงงานที่นายจ้างรับภาระต้นทุนต่ำกว่าแรงงานที่นำเข้ามาใหม่เพราะ (1) ไม่ต้องเสียค่านายหน้าคนละ 25,000-30,000 บาท (2) ไม่ต้องเสียค่ากักตัว 13,200-19,300บาท/คน เพียงแต่จะต้องเสียค่าซื้อตัวคือ ชำระหนี้กับนายจ้างเดิม หรืออาจจะไม่ต้องจ่ายส่วนนี้ถ้านายจ้างเดิมไม่ต้องการพวกเขาเนื่องจากกิจการปิดตัวไปแล้ว ค่าใช้จ่ายจะเหลือแต่ค่าจดทะเบียน ค่าตรวจสุขภาพ และค่าต่ออายุเอกสารสำคัญในการอยู่ในประเทศไทยจนถึงมีนาคม 2565 (เสียค่าใช้จ่ายนี้ปีละครั้ง)
โดยการดำเนินการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสามารถทำได้โดยมีขั้นตอนดังนี้
- สำนักบริหารแรงงงานต่างด้าว ประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเป้าหมายตามทะเบียนของกรมการจัดหางานเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายแจ้งความจำนงที่จะหานายจ้างใหม่
- อนุญาตให้แรงงานกลุ่มที่ถูกเลิกจ้าง และกลุ่มที่ชำระหนี้ครบถ้วนแล้วสามารถแจ้งลงทะเบียนกับนายจ้างใหม่ได้ทันที
- สำหรับกลุ่มที่ถูกเลิกจ้างชั่วคราวโดยมีกำหนดชัดเจน ให้แจ้งลงทะเบียนเพื่อเปลี่ยนแปลงนายจ้างชั่วคราว
- สำหรับกลุ่มที่ถูกพักงานอย่างไม่มีกำหนด หรือที่ต้องการเปลี่ยนนายจ้าง ให้ดำเนินการแจ้งความจำนงที่จะหานายจ้างใหม่เพื่อติดตามสถานะหนี้ระหว่างนายจ้างเดิม และแจ้งลงทะเบียนกับนายจ้างใหม่ได้ทันที
*หมายเหตุ การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขอาจกำหนดเวลาเพียงชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ
- สนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับห้องพัก และกำหนดจำนวนผู้อยู่อาศัยให้เหมาะสมโดยเฉพาะห้องพักราคาถูกและเพื่อลดความแออัดของผู้อยู่อาศัย ลดความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาด สามารถดำเนินการตรวจสอบตามรายชื่อใบอนุญาตประกอบกิจการหอพัก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- ฝ่ายความมั่นคงต้องเพิ่มความเข้มงวดในพื้นที่ชายแดนสกัดการลักลอบเข้าประเทศจากปัจจุบันจนถึงครบกำหนดการต่ออายุใบอนุญาตทำงานต้นปี 2564เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางสุขภาพในประเทศไทยจากการที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในขั้นตอนเปิดผ่อนผันให้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบต่อไปอยู่ในขณะนี้นอกจากจะเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวทุกคนที่ประสงค์จะอยู่ในประทศไทยได้ลงทะเบียนและขอใบอนุญาตทำงานแล้ว แต่ยังมีประเด็นของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่รับรู้ว่าประเทศไทยกำลังต่ออายุแรงงานต่างด้าวไปอีกเกือบ 2ปีจึงเป็นแรงจูงใจให้แรงงานต่างด้าวทั้งที่เคยมาทำงานในประเทศไทยมาก่อนและรู้จักช่องทางเข้ามาในประเทศไทย (อาจจะรู้จักนายจ้างหรือนายหน้าเก่า) แอบลักลอบเข้าไทยตามช่องทางด่านธรรมชาติโดยไม่ได้ผ่านกระบวนการตรวจโรค Covid-19 ตามเงื่อนไขของรัฐบาลไทยซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องระมัดระวังอย่างเข้มงวดเพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นที่มาของการแพร่เชื้อ Covid-19 รอบสองในไทยได้
- ลดต้นทุนมาตรการกักตัว และเพิ่มจำนวนการรองรับการกักตัวสำหรับแรงงานต่างด้าวที่จะกลับมาทำงานในประเทศ ตามข้อเสนอการกักตัวสำหรับประเทศไทยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการนำเข้าแรงงานให้ได้มาก ป้องกันและลดแรงจูงใจในการลักลอบเข้าประเทศ ลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดจากกลุ่มที่ลักลอบเข้าประเทศ
เอกสารอ้างอิง
[1] แรงงานต่างด้าว MOU เฮ! หลัง ศบค. อนุมัติให้เข้าประเทศ แต่ต้องกักตัว 14 วัน (กรมการจัดหางาน, 22 ก.ค. 2563) (https://www.doe.go.th/prd/main/news/param/site/1/cat/7/sub/0/pull/detail/view/detail/object_id/37291)[2] นายจ้างไม่เห็นด้วยกับมาตราการของ ศบค. ซ้ำเติมนายจ้าง ราคาสูงปรี้ด (กลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว : โครงการนายจ้างสีขาวฯ, 22 ก.ค. 2563)
(https://www.tcijthai.com/news/2020/7/scoop/10722)[3] ขุนพลแรงงานไทย วันศุกร์ที่ 1 พ.ค. 2563 (Radio Taiwan International, 1 พ.ค. 2563)
(https://th.rti.org.tw/radio/programMessageView/id/102588)[4] ศบค.แนะ “นายจ้าง” เสนอรูปแบบพื้นที่กักตัว “แรงงานต่างด้าว” ก่อนเปิดรับข้ามมาทำงาน (ผู้จัดการออนไลน์, 24 ก.ค. 2563)
(https://mgronline.com/qol/detail/9630000075981)[5] แรงงานต่างด้าวขาดแคลนหนัก “ก่อสร้าง-ประมง” ต้องการ 1.2 ล้านคน (ประชาชาติธุรกิจ, 23 ก.ค. 2563)
(https://www.prachachat.net/economy/news-495666)