เที่ยววัดอโยธยาศรีรามเทพนคร วัดเก่าแก่นับพันปี สร้างก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา
ประวัติศาสตร์วัดอโยธยา ตามพงศาวดารเหนือ เชื่อกันว่า สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 1581 บริเวณวัดนี้เคยเป็นพระราชวังอาณาจักรอโยธยาศรีรามเทพนคร ต่อมาเมื่อกษัตริย์ผู้ปกครองเมือง หรือ พระเจ้าหลวงแห่งอาณาจักรละโว้ ราวปีพุทธศักราช 1632-1654 ครองราชย์สมบัติได้ 9 ปี ก็ทรงโปรดให้ยกเขตพระราชวังแห่งนี้สร้างเป็นวัด เรียกว่า “วัดเดิม” มีฐานะเป็นพระอารามหลวง และเป็นวัดอยู่ในพระราชวัง เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา


วัดอโยธยา สร้างขึ้นก่อน “พระเจ้าอู่ทอง” จะสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 1893 จึงถือเป็นวัดแรกของกรุงศรีอยุธยาด้วย โดยวัดอโยธยานี้เป็น วัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันเจ้าอาวาส คือ “พระอธิการปัญญาพล ปญฺญาพโล”

“พระอาจารย์ปัญญาพล” เจ้าอาอาวาสวัดอโยธยา เล่าเรื่องราวความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของวัดอโยธยาว่า “พระนารายณ์ กษัตริย์สมัยละโว้ เป็นพระโอรสพระเจ้าจันทรโชติ เสด็จลงมาจากเมืองละโว้ แล้วขึ้นครองราชสมบัติ พระองค์จึงให้เรียกนามว่า “เมืองอโยธยา” เพื่อให้สมพระนามของพระองค์ที่เฉลิมชัยในการทำสงครามยุทธหัตถีชนะพระเจ้าอนุรุธ หรืออโนรธามังช่อ แห่งเมืองหงสาวดี ซึ่งศักราชที่พระเจ้าจันทรโชติครองราชสมบัติน่าจะอยู่ระหว่างปี พ.ศ. 1594 -1600”


พงศาวดารโยนก บันทึกลำดับกษัตริย์ผู้ครองแคว้นละโว้ชั้นหลังตั้งแต่จุลศักราชล่วงเข้า 400 ปี มาแล้ว หรืช่วงปีพุทธศักราช 1581 มีลำดับรายชื่อดังนี้ พระเจ้าสินธพอมรินทร์-แกรก ต่อมาด้วย พระเจ้าจันทรโชติ พระนารายณ์ พระเจ้าหลวง พระเจ้าสายน้ำผึ้ง และพระเจ้าธรรมิกราช
พงศาวดารเหนือ ได้บันทึกไว้ว่า หลังจากพระนารายณ์แห่งเมืองละโว้ขนานนามเมืองอโยธยาแล้ว ได้เสด็จกลับไปเมืองละโว้ มีความปรากฏในว่า “แล้วพระนารายณ์ไปสร้างพระปรางค์เมืองละโว้ ขนานนามเมืองใหม่ชื่อว่า “ลพบุรี” แต่นั้นมาเป็นเมืองลูกหลวง พระนารายณ์ทรงประชวรและสวรรคตลง แต่นั้นมาเมืองได้ว่างเปล่า อำมาตย์ 9 คนได้รบราฆ่าฟันชิงราชสมบัติกัน การทำศึกรวมเวลา 2 ปี หลังจากนั้นพระเจ้าหลวงได้ราชสมบัติ 9 ปี จึงกำหนดให้ตั้งพิกัดอากรขนอนตลาดไว้ทุกตำบล จึงสั่งให้ยกวังให้เป็นวัด ด้วยผ่านยุคสมัยการนองเลือดก่อนที่พระองค์ขึ้นครองราชย์ เรียกว่า “วัดเดิม” หลังจากพระเจ้าหลวงได้สั่งยกวังให้เป็นวัดแล้ว ต่อมาโปรดให้สร้างเมืองใหม่และตำหนักวังอยู่ท้ายเมือง






“คุณจิรัฏฐ์ กล้วยไม้ ณ อยุธยา” ราชสกุล และนักโหราศาสตร์ และเจ้าของ Facebook Page เล่าเรื่องจากโหรา ได้ให้ข้อมูลประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับของวัดอโยธยาไว้ว่า “หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในเรื่องของการสร้างวัดอโยธยามีปรากฏมาแต่ในโบราณกาล วัดนี้สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 1581 และยังเคยเป็นที่ตีดาบของ สมเด็จพระเนศวรมหาราช ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้นเนี่ย พระองค์ท่านได้มากราบขอพรพระพุทธศรีอโยธยาเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดอโยธยา ก่อนเดินทางไปหงสาวดี และประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง ได้รับชัยชนะเหนือศัตรู”

ราชสกุล และนักโหราศาสตร์ และเจ้าของ Facebook Page เล่าเรื่องจากโหรา
วัดอโยธยา เป็นศูนย์กลางของเมืองอโยธยา จึงเป็นวัดประจำพระราชวัง “เมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร” ริมแม่น้ำป่าสัก ก่อนที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือ พระเจ้าอู่ทอง จะทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยา เมื่อปีพุทธศักราช 1893 ณ หนองโสน เดิมเป็นพระอารามหลวง โดยพระเจ้าหลวงยกวัดให้เป็นวัง เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นวัดในฝ่ายอรัญวาสี ยังปรากฏชื่อวัดนี้ในจารึกวัดศรีชุม คือ จารึกหลักที่ 2 ในประมวลจารึกไทย ที่สันนิษฐานว่า จารึกโดยพระมหาเถรศรีศรัทธา วัดอโยธยานี้ จีงเป็นวัดที่มีพระมหากษัตริย์หลายพระองค์เสด็จมาประทับอยู่ และเป็นวัดที่สำคัญเกี่ยวกับพิชัยสงครามอีกด้วย
พุทธโบราณสถานสำคัญ ประกอบด้วย เจดีย์ทรงระฆังกลม หรือทรงลังกาแปดเหลี่ยม รูประฆังเรียวปากแคบไม่ผายกว้าง ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ด้วยสถาปัตยกรรมองค์ระฆังกลมทำเป็นรูปปูนปั้นกลีบบัวลดหลั่นกัน แปลกตากว่าเจดีย์องค์อื่น ๆ ภายในได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่เจดีย์นี้ด้วย และสร้างบันไดทางขึ้นทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ส่วนเหนือองค์ระฆังขึ้นไปหักหายไป นับได้ว่าเป็นศิลปะแบบเก่าแก่สมัยทวารวดี และ เป็นเจดีย์อโยธยารุ่นแรก ต่อมาได้รับการบูรณะอีกครั้งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (สมัยอยุธยา) โบราณสถานที่ปรากฏว่าสร้างในสมัยของอโยธยา ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2486
ต่อมาเมื่อกรุงศรีอยุธยาล่มสลายในปี พ.ศ.2310 จึงกลายเป็นวัดร้างมานานกว่า 100 ปี กระทั่งถึงรัชสมัยของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทำการปฏิสังขรณ์เป็นพระอารามขึ้นใหม่ และมีพระภิกษุสงฆ์มาครองพรรษานับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจวบจนถึงปัจจุบัน นอกจากวัดอโยธยาแล้วยังมี วัดมเหยงค์ วัดกุฎีดาว วัดใหญ่ชัยมงคล วัดพนัญเชิง เป็นต้น ซึ่งเป็นวัดท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่มีโบราณสถานให้ศึกษาในพื้นที่ตั้งของวัดใกล้เคียงกัน
ขอขอบคุณข้อมูลโดย :
คุณจิรัฏฐ์ กล้วยไม้ ณ อยุธยา” ราชสกุล และนักโหราศาสตร์ และเจ้าของ Facebook Page เล่าเรื่องจากโหรา
ขอขอบคุณบทความและภาพโดย :
คุณนริศรา อ่อนเรียน ช่อง YouTube และ Facebook Page : สารคดีบุกเบิกอารยธรรมแดนสยาม
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่ :