แรงศรัทธา “หลวงพ่อทันใจ” วัดพระธาตุดอยคำ จ.เชียงใหม่

ช่วยแชร์ด้วยนะคะ

หลวงพ่อทันใจ องค์พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ หรือ องค์เทพเทวดาต่าง ๆ เป็นที่พึ่งเป็นความหวังทางใจหากความศรัทธา พลังจิตที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ

            ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาประจำชาติไทย และอีกหลายประเทศทั่วโลกที่นับถือพระพุทธศาสนาคนไทยทุกคนนั้นมีความศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อความศรัทธาบังเกิดขึ้นในจิตใจ จึงไม่แปลกใจถ้าจะมีความเลื่อมใสศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะ องค์พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ หรือ องค์เทพเทวดาต่าง ๆ ซึ่งในยุคสมัยนี้ทุกคนต่างเร่งรีบที่จะร่ำรวยด้วยโชคลาภต่าง ๆ นานา หรือเร่งรีบที่จะประสบผลสำเร็จในชีวิต และเร่งรีบหายจากโรคภัยไข้เจ็บ เพื่อเป็นที่พึ่ง เป็นความหวังทางใจหากความศรัทธาที่มีอย่างแรงกล้าแล้ว การอธิษฐานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีคุณค่าทางจิตใจ แม้บางคนอาจมองเป็นเรื่องงมงาย แต่บางคนกลับมองว่าเป้นเรื่องของพลังจิตบางอย่างและคือสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจให้เกิดมีความหวังในการดำเนินชีวิตต่อไป

            ตามรอยตำนานความมหัศจรรย์ของ “หลวงพ่อทันใจ” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ วัดพระธาตุดอยคำ ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่เป็นพระวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งวัดพระธาตุดอยคำแห่งนี้เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นสถานอันศักดิ์สิทธิ์ และเป็นศูนย์รวมน้ำใจของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธเลยก็ว่าได้

“หลวงพ่อทันใจ”เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีอายุเก่าแก่กว่า 1,400 ปี ท่านบันดาลให้ผู้ที่ไปขอพร ท่านจะโชคลาภและมีตำนานเล่าขานว่าองค์หลวงพ่อทันใจนี้ ท่านมีญาณวิเศษ เมื่อคนที่เป็นโรคภัยไข้เจ็บ แม้กระทั่งเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาต หากไปอธิษฐานขอพรจากหลวงพ่อทันใจแล้ว หลังจากกลับมาจะหายขาดทันที นอกจากนี้ ผู้คนที่ขอพรด้านโชคลาภต่าง ๆ แล้วโดยเฉพาะการเสี่ยงดวงจากสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือ หวย หลายคนก็มีโชคลาภเกิดขึ้นทันที และอีกตำนานความศักดิ์สิทธิ์ที่เลื่องลือกันมากคืออธิษฐานขอเรื่องลูกหลายคู่ที่ไปบนขอเรื่องลูกและภายใน 3 เดือนสมหวังทันใจแทบทุกรายเป็นต้น และยังมีอีกหลายต่อหลายครั้งที่มีผู้คนเดินทางจากทั่วสารทิศเพื่อมาขอพร ด้วยความที่อธิษฐานแล้วได้ผลลัพธ์ทันตาเห็นผลทันใจ ขอพรเพียงไม่กี่วัน ไม่กี่เดือน พรที่ขอก็สัมฤทธิ์ผลดังปาฏิหาริย์ ก็ได้เดินทางกลับมาอีกครั้งเพื่อถวายดอกมะลิแก้บน และเคล็ดลับสิ่งสำคัญในการให้อธิษฐานขอพร คือ ขอได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้นท่านถึงจะให้พรได้สมใจหวัง

วิธีบนขอพรจาก “หลวงพ่อทันใจ”เมื่อการอธิษฐาน ขอพรประสบผลสำเร็จแล้ว จะต้องใช้ดอกมะลิสด 50 พวงขึ้นไป นำมากราบไหว้ถวายเพื่อแก้บนหลวงพ่อ ปัจจุบันมีผู้คนที่มาอธิฐานและขอพรหรือบนบานศาลกล่าวกันเป็นจำนวนมาก พอได้โชคลาภ โชคดีดังที่ขอแล้ว ก็จะนำดอกมะลิมากราบไหว้อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งแต่ละวันจะมีคนนำดอกมะลิมากราบไหว้ไม่น้อยกว่าหลายร้อยหลายพันพวงเลยทีเดียว

            เรื่องราวตำนานเล่าขานความมหัศจรรย์ที่หลายคนอาจคิดว่า ทำไมถึงเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “หลวงพ่อทันใจ” นั่นเป็นเพราะการอธิษฐานอะไรก็สำเร็จสมประสงค์ได้ทันใจและทันท่วงที แต่ความเป็นจริงที่เรียกหลวงพ่อทันใจต่อ ๆ กันมานั้น กลับเป็นเรื่องของความทันใจในการสร้างและปลุกเสกองค์พระพุทธรูป โดยในสมัยโบราณ เมื่อมีการสร้างพระ ซึ่งในวัดสำคัญทางภาคเหนือของไทย มักนิยมสร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า “พระเจ้าทันใจ” ที่หมายถึง พระพุทธรูปที่ใช้เวลาสร้างได้สำเร็จภายใน 1 วัน นั่นเอง กล่าวคือจะเริ่มพิธีตั้งแต่หลังหกทุ่มหรือเวลาตั้งแต่ 00.01 น. เป็นต้นไป จนสามารถสร้างองค์พระได้สำเร็จก่อนพระอาทิตย์ตกดิน ก็คือช่วงเวลาก่อน 18.00 นาฬิกา ของวันถัดไป และสามารถทำพิธีพุทธาภิเษกได้ในเย็นอีกวันหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากการสร้างพระพุทธรูปนั้น มักจะมีขั้นตอน และพิธีกรรมที่ละเอียดซับซ้อน

การสร้างพระพุทธรูป และสามารถทำพิธีพุทธาภิเษกได้สำเร็จภายใน 1 วัน จึงถือว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์ เพราะถ้าสร้างไม่เสร็จใน 1 วัน ก็ถือว่าเป็นพระพุทธรูปธรรมดาทั่วไปจึงมีความเชื่อกันว่าเป็นเพราะพระพุทธานุภาพ และอานุภาพแห่งเทพยดาที่บันดาลให้พิธีกรรมสำเร็จโดยปราศจากอุปสรรค ดังนั้นพุทธศาสนิกชนจึงถือว่าพระเจ้าทันใจเป็นพระพุทธรูปที่จะบันดาลความสำเร็จให้แก่ผู้อธิษฐานขอพรได้อย่างทันอกทันใจจึงเรียกหลวงพ่อพระพุทธรูปนี้ว่า “หลวงพ่อทันใจ”

แต่การสร้างพระเจ้าทันใจ ที่จะทำให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใสนั้น มีอีกเรื่องราวหนึ่งของลักษณะที่แปลกกว่าการสร้างพระพุทธรูปทั่วไป นั่นก็คือจะมีการบรรจุหัวใจพระเจ้า คล้ายกับหัวใจของมนุษย์ ตลอดจนการบรรจุวัตถุมงคลสิ่งของมีค่าไว้ในองค์พระพุทธรูปด้วย และในช่วงระยะเวลาที่ช่างกำลังปั้นองค์พระ จะต้องมีการเจริญพระพุทธมนต์ของพระสงฆ์ตลอดทั้งคืนจนสว่างด้วย โดยทั่วไปพระเจ้าทันใจนิยมสร้างเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย แต่ก็มีวัดที่มีการสร้างหลวงพ่อทันใจที่มีพระพุทธลักษณะต่างจากที่อื่น จะอยู่ที่วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ที่องค์พระมีลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับยืน พระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนกันอยู่เบื้องหน้า

            ประวัติศาสตร์วัดพระธาตุดอยคำ ตามตำนานเล่าว่า เดิมมีชื่อว่า วัดสุวรรณบรรพต แต่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดดอยคำ”สาเหตุที่ได้ชื่อว่าดอยคำนั้น เกิดเนื่องมาจากศุภนิมิตของยักษ์ปู่ทั้งสองได้รับพระเกศาธาตุจากพระพุทธเจ้า แล้วเกิดฝนตกหนักหลายวัน ทำให้น้ำฝนเซาะ ได้พัดพาแร่ทองคำบนไหล่เขาและลำห้วยไหลลงสู่ปากถ้ำเป็นจำนวนมาก จึงเรียกภูเขาลูกนี้ว่า “ดอยคำ”

วัดพระธาตุดอยคำตั้งอยู่บนเทือกเขาถนนธงชัย เป็นวัดสำคัญในจังหวัดเชียงใหม่ อายุเก่าแก่กว่า 1,300 ปี ตั้งอยู่บริเวณดอยคำ เป็นดอยที่ไม่สูงมากนักห่างตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 10 กิโลเมตร มีความสูงจากระดับที่ราบเชียงใหม่ราว 140 เมตร และมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 465 เมตร วัดพระธาตุดอยคำมีลานชมวิวที่สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์รอบเมืองเชียงใหม่

จากตำนานหลายฉบับยังได้กล่าวถึงที่มาประวัติศาสตร์วัดพระธาตุดอยคำไว้ว่า “พระธาตุดอยคำ” แห่งนี้ เคยเป็นที่อยู่อาศัยของยักษ์สองผัวเมียที่มีชื่อว่า“จิคำ และ ตาเขียว” มาก่อน ซึ่งต่อมาชาวบ้านได้เรียกยักษ์ทั้งสองนี้ว่า “ปู่แสะ ย่าแสะ” และปู่แสะย่าแสะมีบุตร 1 คน ชื่อว่า “สุเทวฤๅษี” โดยมีเทวดาได้นำพระเกศาธาตุที่พระพุทธเจ้าได้ประทานแก่ปู่แสะและย่าแสะ นำขึ้นมาฝังและก่อสถูปไว้บนดอยแห่งนี้

สำหรับประวัติการสร้างวัดพระธาตุดอยคำนี้สร้างในปี พ.ศ. 1230 รัชสมัย “พระนางจามเทวี” กษัตริย์แห่งเมืองหริภุญชัยนคร (ปัจจุบันคือจังหวัดลำพูน) โดยพระโอรสแฝดของพระนางจามเทวีคือเจ้ามหันตยศ และเจ้าอนันตยศเป็นผู้สร้างทั้ง 2พระองค์ได้ขึ้นมาก่อเจดีย์ครอบพระสถูปเกศาไว้ ต่อมาจึงได้ประดิษฐานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าส่วนพระเจดีย์แห่งที่ 2 ตั้งอยู่บนยอดเขาสูงทางทิศเหนือของดอยคำที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน คือ พระธาตุดอยสุเทพซึ่งวัดดอยคำนั้น เดิมเป็นวัดร้าง แต่ต่อมาได้เกิดเหตุกรุแตกชาวบ้านไปพบโบราณวัตถุจำนวนมากมายหลายชิ้น เช่น พระรอดหลวง พระหินทรายปิดทององค์ใหญ่ พระสามหมอ (เนื้อดิน) ต่อมาจึงได้นำมาประดิษฐานไว้ ณ วัดพระธาตุดอยคำ

วัดพระธาตุดอยคำนอกจากจะเป็นที่สักการะบูชาของคนท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์อีกแห่งหนึ่งของการบินไทยที่ใช้กำหนดพื้นที่ทางสายตาก่อนที่จะนำเครื่องบินลงจอดที่สนามบินเชียงใหม่อีกด้วย และวันแรม 7 ค่ำ 8 ค่ำ หลังวันวิสาขบูชาทุกปี จะเป็นวันสรงน้ำพระธาตุ ซึ่งถือว่าเป็นวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของสมเด็จองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า(หลังเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 8 วัน) จึงถือเป็นวันสำคัญในพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง ซึ่งตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือนวิสาขะ หรือเดือน 6 ของไทย ดังนั้น ทางวัดพระธาตุดอยคำจึงได้ยึดถือเอาวันดังกล่าวนี้จัดงานและพิธีสรงน้ำเพื่อรำลึกนึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ที่ท่านได้สร้างเผยแผ่เผยแพร่พระพุทธศาสนาเอาไว้ให้เหล่าพุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชาด้วยมีความเชื่อและความศรัทธามาจวบจนเท่าทุกวันนี้

ศาลปู่แสะย่าแสะ เป็นสถานที่กราบไหว้ขอพรเป็นที่แรกก่อนขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยคำ นักท่องเที่ยวหรือใครก็ตามที่เดินทางมายังวัดพระธาตุดอยคำจะต้องทำการสักการะปู่แสะย่าแสะก่อนเป็นที่แรก เนื่องจากมีความเชื่อกันว่าปู่แสะและย่าแสะทำหน้าที่ปกป้องดูแลผืนป่าในอาณาบริเวณดอยคำ จึงเป็นที่แห่งแรกที่ใครที่จะมาวัดจำเป็นต้องให้ความเคารพผู้ปกปักรักษาผืนดินผืนป่าบริเวณนี้ก่อนเดินทางขึ้นสู่วัดนั่นเองซึ่งเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อประเพณี ปัจจุบันยังคงมีพิธีเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันขึ้นแรม 14 ค่ำ เดือน 9 บริเวณเชิงชายป่าด้านตะวันออกของตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งพิธีนี้ชาวบ้านร่วมกันจัดขึ้นเพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ และเชื่อว่าจะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ผลผลิตจะได้ผลดี โดยถือว่าเป็นการปัดเป่าไม่ให้สิ่งเลวร้ายมากินบ้านเมืองที่มีมาแต่โบราณตามความเชื่อความศรัทธาของชาวบ้าน

ถัดมาบริเวณที่สร้างอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี  จากตำนานท้องถิ่นภาคเหนือเกือบทุกเล่ม ได้กล่าวไว้ตรงกันว่า ในปี พ.ศ. 1166  ท่านสุเทวฤๅษีปฏิบัติบำเพ็ญพรตอยู่หลังดอยสุเทพ วันหนึ่งท่านได้ลงมาเก็บอัฐิของบิดามารดา ก็คือ ปู่แสะ-ย่าแสะ ที่บริเวณป่าพะยอม (ปัจจุบันคือตลาดพะยอม) ทันใดนั้นสุเทวฤๅษี ท่านได้เห็นพญาเหยี่ยวที่กำลังขยุ้มทารกน้อยวัยประมาณ 3 เดือน โฉบผ่านมาพอดี ท่านจึงได้ตวาดใส่เหยี่ยวตัวนั้นทันที เหยี่ยวตกใจจึงปล่อยทารกน้อยล่องลอยตกลงมายังพื้นดิน  เดชะบุญตรงนั้นเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ใกล้เชิงดอยคำ และเป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่งเมื่อดอกบัวใหญ่ในสระน้ำได้อ้ากลีบออกรับทารกน้อยนั้นไว้ไม่ให้ตกลงพื้นน้ำ สุเทวฤๅษีก็เกิดความมหัศจรรย์ใจยิ่งนัก จึงรับทารกน้อยวัย 3 เดือนมาเลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรม โดยให้เรียนสรรพวิชาทั้งมวลจนหมดสิ้น รวมถึงศิลปะวิทยาการทำศึก หรือตำราพิไชยสงครามและดนตรีทุกอย่างจนกระทั่งทารกน้อยนั้นได้เจริญวัยครบ 13 ปี  สุเทวฤๅษีจึงต่อเรือยนต์นำกุมารีน้อยพร้อมด้วยฝูงวานรจำนวนหนึ่งเป็นบริวารใส่ลงไปในเรือยนต์ ปล่อยไหลล่องลอยไปตามลำน้ำปิงจนถึงเมืองละโว้ (จังหวัดลพบุรีในปัจจุบัน) และลอยมาถึงท่าน้ำวัดเชิงท่าซึ่งตำนานบางเล่มสันนิษฐานว่า คือ วัดชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เมื่อพระเจ้าเมืองละโว้และมเหสีทรงได้เห็นกุมารีน้อยที่มีพระสิริโฉมงดงามและมีสิริลักษณ์บ่งบอกว่าเป็นผู้มีบุญ จึงได้นำไปเลี้ยงไว้ในพระราชวัง และตั้งเป็นราชธิดา มีนามว่า “จามเทวีกุมารี” และให้ศึกษาศิลปะวิทยาการตำราพิไชยสงคราม และดนตรีทุกอย่าง จนกระทั่งจามเทวีกุมารี มีพระชนมายุได้ 24 พรรษา เจ้าเมืองละโว้จึงให้สมรสกับเจ้าชายราม แห่งนครรามบุรี

     ปี พ.ศ. 1190 รามบุรีเป็นเมืองขึ้นและเมืองหน้าด่านของขอม ปัจจุบันคือ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ใน พ.ศ. 1204 พระเจ้ากรุงละโว้จึงทรงแต่งตั้งให้พระนางจามเทวี ขึ้นครองเมืองหริภุญชัย ตามคำเชิญของสุเทวฤๅษี และสุทันตฤๅษี  ซึ่งขณะนั้นพระนางมีพระชนม์ได้ 38 พรรษา

            ข้อมูลทั่วไป : วัดพระธาตุดอยคำ ตั้งอยู่ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์053-248604 , 053-248607

            ขอขอบคุณผู้สนับสนุนและอภินันทการจาก :องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เป็นองค์การมหาชนของไทย สังกัด กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2546

อพท. มีหน้าที่บริหารและพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวในเชิงบูรณาการ เป็นองค์กรกลางทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ และประสานงานกับท้องถิ่นหรือพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยวให้มีการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพ

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่ :


ช่วยแชร์ด้วยนะคะ