พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้อัล-กุรอาน
พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้อัล-กุรอาน แหล่งเก็บคัมภีร์อัล-กุรอานโบราณอายุกว่าพันปี ตำรายา และตำราดาราศาสตร์
ย้อนหลังไปเมื่อ 500 ปีก่อน เมื่อพญาอินทิราแห่งอาณาจักรลังกาสุกะ ได้ปฏิญานตนเข้ารับศาสนาอิสลาม และเปลี่ยนชื่อเป็น สุลต่านอิสมาอีลชาห์ อาณาจักรลังกาสุกะถึงคราเปลี่ยนเป็น ปาตานีดารุสสาลาม ผู้คนส่วนใหญ่ในพื้นที่จึงเข้ารับนับถือศาสนาอิสลามตราบกระทั่งทุกวันนี้
เรื่องราวเกี่ยวกับคัมภีร์อัล-กุรอาน (Al-Quran) คัมภีร์ในศาสนาอิสลามกลายเป็นเรื่องสำคัญ ชาวมุสลิมเชื่อว่าเป็นพระวจนะของอัลลอฮ์ ที่ประทานผ่านเทวทูตญิบรีลมาสู่นบีมุฮัมมัด เพื่อเป็นทางนำในการดำเนินชีวิตของชาวมุสลิมผู้ศรัทธาเมื่อ 1,400 ปีก่อน
“ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน อัล-กุรอาน จึงสำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวมุสลิม” โต๊ะครู มาหามะลุตฟี หะยีลาแม ผู้บริหารสถานศึกษาสอนศาสนาอิสลามโรงเรียนสมานมิตรวิทยา ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ร่วมกับคณะครูโรงเรียนสมานมิตร กล่าวถึงความสำคัญของคัมภีร์ที่เป็นทางนำในชีวิตของผู้นับถือศาสนาอิสลาม เป็นความตั้งใจที่จะรวบรวมประเภทคัมภีร์อัล-กุรอานโบราณ มรดกทางศิลปวัฒนธรรมอิสลามที่ตกทอดจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
จากเริ่มแรกรวบรวมได้ 13 เล่ม เป็นสมบัติของโรงเรียนและจากสุเหร่าเก่าแก่ในชุมชน ต่อมาจึงมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจากชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และชาวต่างชาติแถบประเทศอาเซียน ทยอยนำมามอบให้ กระทั่งสามารถรวบรวมคัมภีร์ได้มากกว่า 70 เล่ม
“คัมภีร์อัล-กุรอาน ที่เก่าแก่ที่สุดของโรงเรียนสมานมิตรวิทยามีอายุกว่าหนึ่งพันปีจากประเทศอียิปต์ หรือคัมภีร์โบราณจากรูสะมีแล ปัตตานี อายุกว่าสามร้อยปี ได้รับคัดเลือกจากสถาบันหอสมุดสุไลมานียะห์ ประเทศตุรกี ให้เป็นคัมภีร์ที่มีความสวยงามที่สุดในประเทศโลกมุสลิม เมื่อ พ.ศ. 2559 นอกจากนี้ ยังมีเอกสารโบราณที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตมุสลิมที่ชาวต่างชาติมามอบให้ เช่น จากอียิปต์หรืออินโดนีเซีย ชาวมุสลิมที่มีโอกาสเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ หรือในอดีตเคยติดต่อกับประเทศไทย มีทั้งตำรายา ตำราดาราศาสตร์ และตำราต่าง ๆ ที่ล้วนมีอายุเก่าแก่มาก”
เอกสารโบราณเหล่านี้ ทางกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้เข้ามาดูแลเรื่องการเก็บรักษา บูรณะ ซ่อมแซม ตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง แต่หากเป็นคัมภีร์อัล-กุรอาน ที่ชำรุดและไม่สามารถซ่อมแซมเองได้ ก็จะจัดส่งไปให้ช่างผู้ชำนาญการในประเทศตุรกีซ่อมแซม
ผู้มาเยือนสถานที่แห่งนี้จะได้เรียนรู้วิถีมุสลิม หรือสถานที่น่าสนใจเกี่ยวเนื่องกับมุสลิมในจังหวัดนราธิวาส กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมของชาติที่สำคัญแห่งหนึ่ง
- ที่ตั้ง : โรงเรียนสมานมิตรวิทยา ชุมชนบ้านศาลาลูกไก่ ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส (แผนที่)
- เวลาเปิด-ปิด : เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 – 17.00 น.
- โทรศัพท์ : 08 4973 5772
- พิกัด : https://goo.gl/maps/fLPTVABUdxJn8gru5
ขอขอบคุณข้อมูล : ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ และ the cloud
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่ :