วัดมเหยงคณ์ ตามรอยอารยธรรมประวัติศาสตร์และโบราณคดี
วัดมเหยงคณ์ สภาพโบราณสถานและโบราณวัตถุได้ปรักหักพังไปมากตามกาลเวลา แต่ยังพอมีเค้าเป็นหลักเป็นฐาน บ่งบอกถึงศิลปะการก่อสร้างอันประณีตงดงาม มโหฬาร
ประวัติศาสตร์วัดร้างแห่งหนึ่งภายหลังกรุงศรีอยุธยาแตก ตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2310 สภาพโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ยังเหลืออยู่ ได้ปรักหักพังไปมากตามกาลเวลา แต่ยังพอมีเค้าเป็นหลักเป็นฐาน บ่งบอกถึงศิลปะการก่อสร้างอันประณีตงดงาม มโหฬาร และระดับความสำคัญของพระอารามแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
รวมเวลาล่วงเลยมา 200 กว่าปี มีบันทึกประวัติศาสตร์และโบราณคดีตามตำนานพงศาวดารเล่าขานต่อๆกันมา เกี่ยวกับการสร้างวัดในสมัยอโยธยาแต่กาลก่อน ณ เขตเมืองอารยธรรมแห่งนี้ ได้มีการค้นพบวัตถุโบราณของพระอารามอันมีชื่อว่า “วัดมเหยงคณ์”
ประวัติความเป็นมาของวัดมเหยงคณ์ ตามแนวภาษาศาสตร์ มีความหมายของชื่อวัดมาจากภาษาบาลีว่า “มหิยังคณ์” แปลว่า ภูเขาหรือเนินดิน นอกจากนั้น ชื่อ มเหยงคณ์ ยังเป็นชื่อสถานที่และพระธาตุสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศศรีลังกา เรียกว่า “มหิยังคณ์เจดีย์” อีกด้วย
วัดมเหยงคณ์ เดิมเป็นพระอารามหลวงฝ่ายวิปัสสนาธุระที่เคยสำคัญยิ่งมาในอดีตสมัยอยุธยา โดย สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือเจ้าสามพระยา ทรงสร้างขึ้น และได้รับการปฏิสังขรณ์หลายครั้งในหลายสมัย แต่ได้กลายเป็นวัดร้าง เข้าใจว่านับตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยา แนวคิดทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเกี่ยวกับการสร้างวัดมเหยงคณ์ได้แตกออกเป็น 2 แนวทาง คือ
ตามพงศาวดารเหนือได้บันทึกไว้ว่าพระนางกัลยาณี มเหสีของพระเจ้าธรรมราชา เมื่อประมาณปีพ.ศ 1844-1853 กษัตริย์องค์ที่ 8 ของอยุธยาเป็นผู้สร้างวัดมเหยงคณ์ นั่นแสดงว่าวัดมเหยงคณ์สร้างในสมัยอยุธยาก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยาอย่างน้อย 40 ปี
ส่วนพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวว่าศักราช 786 มะโรงศก หรือปีพ.ศ.1967 สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าหรือเจ้าสามพระยา กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาเป็นผู้สร้างวัดมเหยงคณ์
ขณะที่ พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ กล่าวว่าศักราช 800 มะเมียศก หรือปีพ.ศ.1981 สมเด็จบรมราชาธิราชเจ้าหรือเจ้าสามพระยา เป็นผู้สร้างวัดมเหยงคณ์ มีการวิเคราะห์กันว่าวัดมเหยงคณ์นั้น ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ครั้งอโยธยาแต่ชำรุดทรุดโทรมเมื่อเวลาผ่านไปกว่า 100 ปี ครั้นเมื่อถึงสมัย สมเด็จพระบรมราชาธิราช ทรงเห็นว่าเป็นวัดเก่าแก่ จึงบูรณะและสร้างเพิ่มเติมให้ใหญ่โตจากโครงสร้างเดิมที่มีอยู่แล้ว
ต่อมาสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ราวปีพ.ศ. 2552 วัดมเหยงคณ์ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ในสมัยกษัตริย์พระนามว่า พระภูมิมหาราช หรือพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ในปีฉลูเอกศก วัดมเหยงคณ์ได้เจริญรุ่งเรืองอย่างมากในสมัยกรุงศรีอยุธยา และคงรุ่งเรืองตลอดมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาแตกในปีพ.ศ. 2310 นั่นเอง
ภายในวัดมเหยงคณ์มีพระอุโบสถตั้งอยู่บนฐานสูง 2 ชั้น ลดหลั่นกัน ขนาดพระอุโบสถกว้าง 18 เมตร ยาว 36 เมตร นับว่าเป็นพระอุโบสถที่ใหญ่ที่สุดในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถัดไปหลังพระอุโบสถทางทิศตะวันตกพ้นเขตกำแพงแก้ว จะพบพระเจดีย์ฐานช้างล้อม ซึ่งเป็นเจดีย์องค์ประธานของวัดมเหยงคณ์ องค์เจดีย์เป็นแบบลังกาเหมือนเจดีย์ช้างล้อมทางสุโขทัย มีบันไดขึ้นนมัสการทั้ง 4 ด้าน ตั้งอยู่บนฐานทักษิณสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวด้านละ 32 เมตร มีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ทิศ มีฐานทักษิณมีรูปช้างปูนปั้นยืนประดับอยู่ทั้งตัวโดยตามซุ้มรอบฐานรวม 80 เชือก ช้างแต่ละเชือกสูง 1.05 เมตร ประดับห่างกันเชือกละ 80 เซนติเมตร องค์เจดีย์ประธาน ยอดเจดีย์หักตั้งแต่ส่วนกลางขององค์ระฆังจนถึงใต้บัลลังก์หักพักลงมา ฐานชั้นล่างของพระเจดีย์มีซุ้มพระพุทธรูปจตุรทิศยื่นออกมาเห็นชัดเจน (องค์เจดีย์ตั้งแต่ส่วนกลางขององค์ระฆังหักพังลงมานานแล้ว)
สิ่งสำคัญที่เป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุของวัดมเหยงคณ์
พระอุโบสถ ตัวพระอุโบสถกว้าง 18 เมตร ยาว 36.80 มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ประตูเข้าทางทิศตะวันออก 3 ช่อง ทิศตะวันตก 2 ช่อง หน้าต่างรูปสี่เหลี่ยมขนาด 1.10 เมตร หน้าต่างรูปสี่เหลี่ยมมี 6 ช่อง อยู่ทางด้านเหนือและด้านใต้ละ 3 ช่อง ภายในพระอุโบสถมีแท่นฐานชุกชี 2 แท่น เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์นามว่า “หลวงพ่อหินทรายศักดิ์สิทธิ์” หักล้มลงเป็นท่อนๆ ตัวพระอุโบสถนี้ มีกำแพงแก้ว 2 ชั้น มุมของแต่ละชั้นย่อเหลี่ยม ตรงมุมกำแพงแก้วชั้นนอกมีเจดีย์เล็กๆ ทรงลังกา ประกอบกำแพงแก้วชั้นนอก กว้าง 38 เมตร ยาว 72 เมตร ใบเสมาเป็นหินสีเขียว หนา 20 เซนติเมตร กว้าง 1 เมตร สูง 2 เมตร
บริเวณโคกโพธิ์ เป็นเนินดินตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพุทธาวาส ลักษณะเกือบเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาว 58 เมตร กว้าง 50 เมตร อาจเป็นที่ตั้งพลับพลาที่ประทับของพระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชะเวตี้ ต่อมาเมื่อพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงปฏิสังขรณ์วัดนี้ คงจะได้สร้างเจดีย์เล็กๆหรือสิ่งก่อสร้างอื่นๆ เพราะสังเกตเห็นเป็นมูลดินเตี้ยๆ คล้ายเจดีย์อยู่หลายแห่ง ได้พบรากฐานอิฐและกระเบื้องอยู่มาก ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นที่ตั้งของลานธรรมจักษุ
เจดีย์ด้านตะวันออกของพระวิหาร 2 องค์ เป็นเจดีย์แบบลังกา ตั้งบนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 10 เมตร ฐานของเจดีย์รับปากระฆังเป็นรูปแปดเหลี่ยม เส้นผ่าศูนย์กลาง 8 เมตร ขอบขององค์ระฆังทำเป็นลวดคาด 5 ชั้น บัลลังก์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส คงเหลือเพียงปล้องไฉนเท่านั้น ส่วนยอดชำรุด
วิหารสองหลัง ตั้งอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือและเฉียงใต้ของพุทธาวาส คงเหลือเพียงรากฐานเห็นเป็นมูลดิน กว้าง 6.50 เมตร ยาว 12.80 เมตร มีแนวกำแพงแก้วล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยม กว้าง 21.60 เมตร และยาว 27.80 เมตร
เจดีย์ด้านตะวันตกของวิหาร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้าง 12 เมตร ทักษิณย่อไม้ สูง 2.80 เมตร องค์เจดีย์ส่วนที่รับปากระฆัง เป็นแปดเหลี่ยม มีบัวคว่ำหงายสลับหน้ากระดาษขึ้นไป 5 ชั้น เฉพาะชั้นที่ 5 มีลายเครือไม้และแข้งสิงห์ประกอบที่มุมปากระฆังเป็นขอบลวดคาด 3 ชั้น ชั้นที่ 3 ทำเป็นกลีบบัวประดับ มีบันไดขึ้นด้านตะวันออก องค์ระฆังเป็นทรงลังกา นับเป็นเจดีย์ยุคปลายของกรุงศรีอยุธยา เข้าใจว่าคงสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
เจดีย์รายทรงลังกา ตั้งบนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสในเขตพุทธาวาส 5 องค์ นอกเขตพุทธาวาสด้านตะวันตก 3องค์ ทุกองค์มีฐานกว้างประมาณ 10 เมตร ยังเห็นรูปทรงได้ชัดชำรุดบ้างเล็กน้อย
วัดมเหยงคณ์ในปัจจุบัน
หลังจากสิ้นกรุงศรีอยุธยา วัดมเหยงคณ์ถูกทอดทิ้งให้รกร้าง ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2527 “พระครูเกษมธรรมทัต” (หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี) เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งปัจจุบัน วัดมเหยงคณ์ ตั้งอยู่ที่ ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท่านเจ้าคุณพระภาวนาเขมคุณ วิ. หรือหลวงพ่อสุรศักดิ์ ได้จัดตั้งสำนักกรรมฐานขึ้นในบริเวณวัดมเหยงคณ์ ส่วนโบราณสถานโบราณวัตถุ ได้รับการดูแล ถากถางพันธุ์ไม้ต่างๆที่ขึ้นปกคลุมโบราณสถานไว้หลักบริเวณพื้นที่ภายในฝ่ายพุทธาวาสและสังฆาวาสให้ร่มรื่นและสงบเงียบจากสิ่งรบกวน
ปัจจุบัน กรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนวัดมเหยงคณ์เป็นโบราณสถานของชาติตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2484 กรมศิลปากรได้เข้าไปบูรณะ ดำเนินการขุดแต่งและปฏิบัติงานตามโครงการบูรณะฟื้นฟูดินแดนกลุ่มอโยธยา ทำให้สภาพของวัดมเหยงคณ์ที่เปรียบเสมือนทองคำจมดินอยู่ ได้รับการขัดสีฉวีวรรณให้สุกปลั่ง ปรากฏแก่สายตาของผู้พบเห็น ได้ชื่นชมและได้ประจักษ์ในคุณค่าของสถาปัตยกรรมไทยในอารามแห่งนี้ได้เต็มที่
สำหรับเนื้อที่นอกเขตโบราณสถาน ได้จัดเป็นสำนักปฏิบัติกรรมฐาน ปัจจุบันมีประชาชนพุทธศาสนิกชนเข้าไปรับการอบรมเป็นจำนวนมาก ได้มีการจัดให้มีกิจกรรมทางศาสนามากมาย ได้แก่ จัดอบรมวิปัสสนากรรมฐาน จัดอบรมปฏิบัติธรรมพิเศษจากการบวชเนกขัมมะ ภาวนาประจำเดือน จัดบวชถือศีล 8 ประจำวัน จัดบวชพระสงฆ์ประจำเดือน และพระสงฆ์จำพรรษาปฏิปทาของวัดมเหยงคณ์ สร้างสถานที่ให้สัปปายะ เพื่อรองรับผู้ปฏิบัติธรรม นอกจากนี้ยังได้ตั้งโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรม เพื่อให้ความรู้ ทั้งพระสงฆ์และประชาชนทั่วไป กลายเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในชุมชน ช่วยอนุรักษ์โบราณสถานและศิลปะของไทยสมัยโบราณ ให้คงอยู่
- ที่อยู่ : วัดมเหยงคณ์ ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000
- ชื่อผู้ติดต่อ : วัดมเหยงคณ์
- เบอร์โทรศัพท์ : ติดต่อสอบถามข้อมูลการเดินทางไป ได้ที่ฝ่ายลงทะเบียน
- โทร. 080-9071543, 082-2333848
- Social Media (Facebook): https://www.facebook.com/watmahaeyong/
- กิจกรรมท่องเที่ยว :
- ศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดี
- ศึกษาสถาปัตยกรรมไทย
- ถ่ายรูป
- ศึกษาประวัติศาสตร์
- นั่งสมาธิและปฏิบัติธรรม
- สิ่งอำนวยความสะดวก : ห้องน้ำ
- แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง :
- อนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดี
- วัดสีกาสมุด
- สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติทุ่งหันตรา
- เวลาทำการ : ทุกวัน
- ตำแหน่งที่ตั้ง (ลิงค์จาก Google Map): https://goo.gl/maps/yZCk5jyZTyYV1K4s8
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่ :