ฮาวทูทิ้ง : ทิ้งหน้ากากอนามัยอย่างไรให้ปลอดภัยกับสังคมและสิ่งแวดล้อม
กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์
วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ
ความสามารถในการเก็บขนและจัดการขยะติดเชื้อที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะเพียงพอต่อการจัดการขยะติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือไม่
เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มที่รุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น ปริมาณการใช้หน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ ทั้งถุงมือทางการแพทย์ ชุดป้องกันเชื้อโรค (PPE) ฯลฯ เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยอุปกรณ์เหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการจัดการเหมือนมูลฝอยติดเชื้อ คำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือศักยภาพในการรองรับของบริการเก็บขนและกำจัดมูลฝอยติดเชื้อที่มีอยู่ในปัจจุบันจะสามารถรองรับได้หรือไม่ และถ้าขยะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วไม่ได้ถูกคัดแยกออกมาแต่ถูกทิ้งปะปนกับขยะชุมชนอื่นๆ ทางภาครัฐจะดำเนินการอย่างไร
เนื่องด้วยการเก็บขนและการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อจำเป็นต้องเป็นไปตามที่กฎกระทรวงได้กำหนดไว้ ดังนั้น การคำนึงถึงความสามารถในการรองรับ (Capacity) ของหน่วยงานที่รับเก็บขนมูลฝอยติดเชื้อและหน่วยงานที่รับกำจัดมูลฝอยติดเชื้อเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับการเก็บขนมูลฝอยติดเชื้อ พบว่าปัจจุบันทั่วประเทศมีบริษัทเอกชนจำนวน 25 ราย และมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 10 ราย ที่รับเก็บขนมูลฝอยติดเชื้อ โดยมีการนำระบบ Manifest System มาใช้ในการควบคุมและกำกับดูแลการเก็บขนมูลฝอยติดเชื้อจากแหล่งกำเนิดไปยังแหล่งกำจัด
สำหรับการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อในปัจจุบัน พบว่ามีการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ ณ แหล่งกำเนิดจำนวน 67 แห่ง ซึ่งสามารถจำแนกเป็นการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อโดยใช้เตาเผา 61 แห่ง และเครื่องมือสำหรับนึ่งฆ่าเชื้อโดยใช้ไอน้ำร้อนและแรงดันสูง (Autoclave) จำนวน 6 แห่ง สำหรับมูลฝอยติดเชื้อที่ไม่ได้รับการกำจัด ณ แหล่งกำเนิด จะถูกเก็บขนไปกำจัดในเตาเผามูลฝอยติดเชื้อ[1] โดยแบ่งเป็นเตาเผามูลฝอยติดเชื้อของเอกชนจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ บริษัทโชติฐกรณ์ พิบูลย์ จำกัด (40 ตัน/วัน) บริษัท ที่ดินบางปะอิน (8 ตัน/วัน) และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (40 ตัน/วัน) สำหรับเตาเผามูลฝอยติดเชื้อขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีจำนวน 7 แห่ง ได้แก่ อบจ. นนทบุรี (7.2 ตัน/วัน) อบจ. ระยอง (3.6 ตัน/วัน) เทศบาลนครอุดรธานี (7.2 ตัน/วัน) เทศบาลนครยะลา (อยู่ระหว่างการปรับปรุง) เทศบาลเมืองน่าน (4.8 ตัน/วัน) เทศบาลเมืองวารินชำราบ (8.4 ตัน/วัน) และเทศบาลเมืองภูเก็ต (3 ตัน/วัน)
มาตรการของไทยในปัจจุบันเน้นให้ความรู้เรื่องการทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วอย่างถูกวิธี
มาตรการที่ภาครัฐดำเนินการอยู่ในปัจจุบันเน้นการสร้างความตระหนักและให้ความรู้กับประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับวิธีการทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วอย่างถูกวิธีโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงกรุงเทพมหานครได้ออกมาประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชนว่าสามารถทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วอย่างถูกวิธีได้อย่างไร โดยแนะนำให้ประชาชนนำหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วบรรจุใส่ถุงที่ปิดสนิท มัดปากถุงให้แน่น พร้อมติดหน้าถุงว่า “หน้ากากอนามัย” เพื่อให้รถเก็บขนขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเก็บขนไปกำจัดนอกจากนี้ ทางกรุงเทพมหานครจัดให้มีถังรองรับหน้ากากอนามัย (ถังสีแดง) เฉพาะในจุดที่ทางกรุงเทพมหานครกำหนด เช่น สำนักงานเขตทั้ง 50 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร 11 แห่ง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เป็นต้น
มาตรการของจีนค่อนข้างเข้มข้นและจูงใจให้คนคัดแยกและทิ้งอย่างถูกวิธี
หากพิจารณามาตรการของประเทศจีนเกี่ยวกับการจัดการขยะหน้ากากอนามัย พบว่ารัฐบาลจีนได้ใช้มาตรการที่เข้มข้นในการจัดการกับผู้ที่ทิ้งหน้ากากอนามัยและขยะติดเชื้ออื่นๆ แบบผิดวิธีควบคู่ไปกับมาตรการทางสังคมซึ่งจูงใจให้คนคัดแยกและทิ้งขยะเหล่านี้อย่างถูกต้อง โดยรัฐบาลจีนได้กำหนดให้ตั้งถังขยะพิเศษในชุมชนทุกแห่งและออกข้อกำหนดให้ประชาชนนำหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วพับใส่ถุงพลาสติกและทิ้งลงในถังขยะพิเศษสีแดงเท่านั้น โดยที่ทิ้งขยะทุกแห่งจะมีกล้อง CCTVบันทึกตลอดเวลา โดยในกรณีของเมืองเชี่ยงไฮ้หากประชาชนทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วไม่ตรงกับถังที่กำหนดจะถูกปรับ[2]ครั้งละ 200 หยวน หรือ1,000 บาทแต่ในกรณีของร้านค้าจะถูกปรับครั้งละไม่เกิน 50,000 หยวน หรือ 250,000 บาท
นอกเหนือจากเงินค่าปรับแล้ว มาตรการลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนซึ่งชาวเซี่ยงไฮ้หลายคนกังวลคือการถูกตัดคะแนนความน่าเชื่อถือทางสังคม (Social Credit Rating) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลติดตามพฤติกรรมทางการเงินและทางสังคมของประชาชนชาวเซี่ยงไฮ้ที่บ่งบอกถึงระดับความน่าเชื่อถือ (Trustworthiness) ผู้ที่มีคะแนนความน่าเชื่อถือต่ำจะถูกกีดกันจากการเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชน การเข้าทำงานในสถานที่ทำงานที่ดี รวมถึงถูกกีดกันจากการเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะบางแห่ง เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการทางสังคมที่มีผลต่อแรงจูงใจในการคัดแยกและทิ้งขยะให้ถูกต้องของชาวเมืองเซี่ยงไฮ้ สำหรับขยะติดเชื้อที่ผ่านการคัดแยกแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่ของเมืองที่แต่งชุดPPEป้องกันตัวเองอย่างดีมาทำการเก็บขนทุกวันพร้อมกับทำการพ่นแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรคที่ถังขยะทุกครั้งก่อนนำส่งเตาเผาขยะของเมืองต่อไป
ไทยควรใช้มาตรการเชิงรุกที่เข้มข้นขึ้น โดยประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมืออย่างจริงจัง
ประเทศไทยควรใช้มาตรการเชิงรุกที่เข้มข้นขึ้น โดยประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมืออย่างจริงจังให้คนคัดแยกและทิ้งหน้ากากอนามัยให้ถูกวิธี รวมทั้งจัดตั้งถังขยะติดเชื้อให้เพียงพอนอกจากนี้ ควรใช้สื่อในการรณรงค์ที่มีเนื้อหาที่เข้าใจง่ายและสามารถเข้าถึงคนจำนวนมาก ทุกเพศ ทุกวัย เพื่อขอความร่วมมือให้ประชาชนทั่วไปช่วยกันแยกหน้ากากอนามัยใช้แล้วออกจากขยะครัวเรือนประเภทอื่น พร้อมทั้งพับหน้ากากอนามัย ใส่ถุงที่ปิดสนิท มัดปากถุงให้แน่น และเขียนหรือติดหน้าถุงว่า “หน้ากากอนามัย” เพื่อให้รถเก็บขนขยะมูลฝอยของสำนักงานเขต (พื้นที่กรุงเทพมหานคร) หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเก็บขนไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป
สำหรับถังรองรับหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว (ถังสีแดง) ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรเพิ่มจำนวนถังสีแดง และควรเลือกจุดตั้งถังที่สะดวกสำหรับประชาชน เป็นสถานที่ที่คนทั่วไปต้องไปหรือผ่านอยู่แล้ว เพื่อไม่ต้องเพิ่มภาระหรือต้นทุนให้กับประชาชนในการนำขยะหน้ากากอนามัยไปทิ้ง ในส่วนของหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน สถานประกอบการและอาคารชุดจำเป็นต้องจัดให้มีถังขยะสำหรับทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วโดยเฉพาะ และติดสัญลักษณ์รูปภาพข้อความที่สื่อถึงหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ควรวางไว้ในจุดรวบรวมที่สามารถเห็นได้ชัดเจน ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับการทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วในองค์กรต่อเนื่อง สื่อสารเกี่ยวกับจุดที่ตั้งถังขยะ และแสดงแผนผังหรือรูปภาพแสดงวิธีการทิ้งที่ถูกต้องไว้บริเวณที่ตั้งถังขยะ
สำหรับประชาชนทั่วไปที่ยังไม่ได้ป่วยจากโรคโควิด-19 ทางภาครัฐสามารถรณรงค์ให้คนเหล่านี้หันมาใช้หน้ากากผ้าที่สามารถใช้ซ้ำได้ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะหน้ากากอนามัย รวมถึงลดภาระของระบบเก็บขนและกำจัดขยะติดเชื้อไปได้มาก
* * *
ข้อเสนอนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ “TDRI Policy Series on Fighting Covid-19”
ท่านสามารถ อ่าน TDRI Policy Series on Fighting Covid-19 (โดย คลิกชื่อบทความ)
[1]ที่มา สถานการณ์และนโยบายการจัดการมูลฝอยติดเชื้อของ กทม.
[2]ที่มา https://www.bbc.com/news/world-asia-china-48847062