ยอยศยุทธหัตถี​ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” 18 มกราคม

ช่วยแชร์ด้วยนะคะ

ยอยศยุทธหัตถี​ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” 18 มกราคม เอกาทศรถ ทรงช้างนามว่า “เจ้าพระยาปราบไตรจักร” ขณะที่พระมหาอุปราชามังสามเกียดแห่งหงสาวดี ไสช้างนามว่า “พลายพัทธกอ”

สารคดีบุกเบิกอารยธรรมแดนสยาม
ตอน ยอยศยุทธหัตถี “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช”

เพื่อเทิดพระเกียรติและสดุดีคุณงามความดีถวายแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช อันเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงกระทำยุทธหัตถี มีชัยชนะต่อสมเด็จพระมหาอุปราชาของหงสาวดี เมื่อวันจันทร์ เดือน ๒ (เดือนยี่) แรม ๒ ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช ๙๕๔ อันตรงกับวันที่ ๑๘ มกราคม เรียกว่า “สงครามยุทธหัตถี” เป็นสงครามที่เกิดขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๑๓๖ ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับกรุงหงสาวดี ผลของสงครามในครั้งนั้นปรากฏว่าอยุธยาเป็นฝ่ายชนะถึงแม้จะมีกำลังพลน้อยกว่า

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” พระองค์ทรงกระทำยุทธหัตถี โดยทรงช้างพระนามว่า “เจ้าพระยาไชยานุภาพ” ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงช้างนามว่า “เจ้าพระยาปราบไตรจักร” ขณะที่พระมหาอุปราชามังสามเกียดแห่งหงสาวดี ไสช้างนามว่า “พลายพัทธกอ” การมีชัยในสงครามยุทธหัตถีทำให้สถานะวีรบุรุษสงครามของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีความพิเศษเหนือพระมหากษัตริย์พระองค์อื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ไทย

“ยุทธหัตถี” เป็นการทำสงครามบนหลังช้างตามประเพณีของกษัตริย์นักรบในสมัยโบราณ ถือเป็นคติมาแต่ดึกดำบรรพ์ เป็นยอดยุทธวิธีของนักรบผู้ได้รับการยกย่องว่ามีพระเกียรติยศสูงสุด พระบรมราชานุสาวรีย์และอนุสรณ์สถานใดๆ ล้วนเป็นเครื่องเตือนใจ เพื่อไว้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ และบุญคุณของบรรพบุรุษไทยทุกท่าน

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งพระองค์ทรงกระทำยุทธหัตถีด้วยสติปัญญา พระปฏิพานไหวพริบอันชาญฉลาด จนรบชนะพระมหาอุปราชาแห่งหงสาวดี สิ้นชีพบนหลังช้าง พระปรีชาสามารถของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นที่ประจักษ์ว่า ทรงทำยุทธหัตถี โดยขี่ช้างชนกันตัวต่อตัวกับพระมหาอุปราชาเมืองหงสาวดี มีชัยชนะอย่างมหัศจรรย์ และได้ทรงสร้างพระเจดีย์ยุทธหัตถีไว้ นับเป็นตำนานการสู้รบที่เลื่องลือของสมเด็จพระนเรศวร สืบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา จวบจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ แต่ในประวัติศาสตร์พระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ หรือแม้แต่ตำนานการสำรวจทางโบราณคดี ค้นหาว่าสถานที่ไหนกันแน่ที่เป็นกองทัพสมเด็จพระนเรศวรทรงทำยุทธหัตถี เนื่องจากประวัติศาสตร์ชาติไทยบางเรื่องราวในอดีตนั้น จำเป็นต้องปกปิดเพื่อความสงบสุข และความเจริญรุ่งเรืองในยุคสมัยของอาณาจักรต่อไป


อนุสรณ์สถานแห่งชัยชนะในการทำสงครามยุทธหัตถีนี้ ตั้งอยู่ใกล้กับโบราณสถานดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เป็นพื้นที่ที่เชื่อกันว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงทำยุทธหัตถี มีชัยเหนือพระมหาอุปราชาแห่งเมืองหงสาวดี เหตุที่เชื่อว่าบริเวณดังกล่าวคือสถานที่ทำยุทธหัตถีนั้น สืบเนื่องจากได้มีการค้นพบวัตถุโบราณที่ใช้ในการทำสงคราม เครื่องศาสตราวุธ เครื่องประดับช้างม้า ลูกประคำม้า ลูกปืนต่าง ๆ บนที่นาอันรกร้างแห่งนี้ในสมัยนั้น อีกทั้งในบริเวณเดียวกัน ยังมีเจดีย์เก่าแก่สมัยอยุธยา ที่มีลักษณะคล้ายสถูป โดยเชื่อกันว่าน่าจะเป็นที่บรรจุพระศพของพระมหาอุปราชาแห่งหงสาวดีนั่นเอง โดยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้เกิดข้อถกเถียง ว่าสงครามยุทธหัตถีนั้นได้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ และที่ไหนกันแน่ของประเทศไทยในปัจจุบัน

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงเชี่ยวชาญการรบยิ่งนัก ทรงฉลาดหลักแหลมในการวางแผนยุทธวิธีและอุบายกระบวนศึกที่ไม่เหมือนผู้ใดในสมัยเดียวกัน พระองค์มีความสามารถในการใช้อาวุธที่ทำการรบแทบทุกชนิดอย่างเชี่ยวชาญ ยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือน ไม่ว่าจะเป็นปืน ดาบ ทวนหรือง้าว เป็นต้น ฝีมือการรบของพระองค์นั้น เรียกได้ว่าเก่งกาจจนเป็นที่ครั่นคร้ามแก่ข้าศึกศัตรู ดังปรากฏในพงศาวดารพม่า พอสรุปได้ว่า “วันหนึ่งพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ทรงตัดพ้อว่า ไม่มีใครที่จะอาสามาสู้รบกับกรุงศรีอยุธยาเลย ทั้งๆ ที่พระนเรศมีรี้พลแค่หยิบมือเดียว แต่ก็ไม่มีใครกล้าไปรบพุ่ง”

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงนำทัพฟันฝ่ารุกไล่ข้าศึก ปกป้องพระราชอาณาจักรมิหยุดยั้ง พระบรมเดชานุภาพของพระองค์แผ่ไพศาลคุ้มบ้านเมืองให้ผาสุกร่มเย็นนับร้อยๆ ปี ยุทธหัตถี จึงเป็นมหาวีรกรรมครั้งยิ่งใหญ่ในแผ่นดินสยาม ตลอดพระชนมชีพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระองค์ไม่เคยทรงอยู่อย่างสะดวกสบาย และต้องทรงกระทำการรบมาโดยตลอด เมื่อพระชนมายุเพียง ๙ พรรษา ก็ต้องไปอยู่ที่หงสาวดีนาน ๖ ปี ครั้นเสด็จกลับมากรุงศรีอยุธยาเมื่อพระชนมายุประมาณ ๑๕ พรรษา ปีต่อมาพระบิดาก็ส่งไปครองเมืองพิษณุโลก มีอำนาจบัญชาการหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมด ได้ทรงจัดฝึกทหารแบบใหม่ พอพระชนมายุ ๑๙ พรรษา ทรงยกกองทัพไปพร้อมพระบิดา เพื่อช่วยทัพหลวงกรุงหงสาวดี ตีเมืองเวียงจันทร์ ครั้นพระชนมายุ ๒๓ พรรษา ได้ลงเรือไล่ติดตามพระยาจีนตุขุนนางจีน เมืองเขมรที่หนีไป โดยใช้พระแสงปืนยิงต่อสู้ด้วยพระองค์เองอย่างไม่หวาดหวั่น จนศัตรูยิงถูกรางพระแสงปืนที่ทรงอยู่แตกไป แม้จะจับพระยาจีนตุไม่ได้ แต่ความกล้าหาญของพระองค์ก็เป็นที่เลื่องลือ นับแต่นั้นมา ก็ไม่มีกองทัพใดกล้ายกมากล้ำกรายกรุงศรีอยุธยาอีกเลย ซึ่งเป็นระยะเวลายาวนานที่สุดหลังจากนั้นเป็นต้นมา ก่อนจะเข้าสู่ยุคของสมเด็จพระนารายมหาราช

การกรำศึกของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น ยังมีอีกเรื่องราวความรักของพระนเรศที่มีต่อพระมเหสีมณีจันทร์ พระมเหสีผู้อยู่เบื้องหลังเคียงบ่าเคียงไหล่พระองค์ดำสู้รบชนะหงสาวดี ผู้หญิงที่พระนเรศวรทรงรักมากที่สุด รักตั้งแต่สมัยเป็นวัยรุ่นอยู่เมืองหงสาวดีไม่เคยเปลี่ยนแปลง จนกระทั่งพระนเรศวรทรงประกาศอิสรภาพและสวรรคต ความรักของทั้งสองพระองค์ เป็นอีกหนึ่งความรักของพระมหากษัตริย์ที่ร่วมสร้างบารมี เป็นเอกอัครมหาเหสีคู่พระทัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หญิงสาวชาวรามัญที่ต้องพระทัยพระองค์ดำยิ่งนัก นับเป็นความรักที่ยิ่งใหญ่ ความรักของมหาราชพระองค์ดำ
ข้อสันนิษฐานสำหรับพระนางมณีจันทร์ว่า อาจจะเป็นพระองค์เดียวกับ “พระองค์จันทร์” คนสนิทของสมเด็จพระพี่นางสุพรรณกัลยา ตามบันทึกของพงศาวดารพม่าฉบับหอแก้ว ผู้ซึ่งนำปอยพระเกศาใส่ผอบมาถวายสมเด็จพระนเรศวรที่กรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ยังมีข้อสันนิษฐานถึงพระประวัติของพระมณีจันทร์ว่าอาจจะทรงเป็นพระธิดาของพระราชวงศ์ ชั้นสูงชนชาติมอญที่เป็นกำลังสำคัญในการกอบกู้เอกราชชาติไทยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

  • ขอบคุณภาพและบทสารคดี โดย นริศรา อ่อนเรียน
    แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์
  • พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี
  • พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
    ตั้งอยู่ริมถนนสายอยุธยา–อ่างทอง บริเวณทุ่งภูเขาทอง ตำบลภูเขาทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัด พระนครศรีอยุธยา
  • อนุสาวรีย์ช้างศึก “เจ้าพระยาปราบหงสาวดี”
    ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ วัดช้างใหญ่ ตำบลวัดตูม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
    วัดช้างใหญ่ เป็นวัดที่มีความสำคัญต่อช้างและเอกราชของชาติในสมัยอยุธยาเป็นอย่างยิ่ง เป็นวัดที่มีความเกี่ยวข้องกับชาวมอญมาแต่โบราณ ด้วยชาวมอญที่นี่มีความสามารถพิเศษในการฝึกเลี้ยงช้างเพื่อถวายแด่พระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา หัวหน้าชาวมอญได้รับการแต่งตั้งเป็นจัตุลังคบาทควบคุมช้างศึก ต่อมาได้เลื่อนยศเป็นทหารเอกแม่ทัพหน้าชนะศึกหลายครั้ง และได้รับแต่งตั้งเป็น “พระยาราชมนู” ได้รับตำแหน่งสูงสุดเป็นถึงเจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดีสมุหกลาโหม
  • วัดท่าใหม่อิ
    ตั้งอยู่เชิงสะพานข้ามแม่น้ำปิง บ้านท่าใหม่อิ ต.ป่าแดด อ.เมืองเชียงใหม่ มีอายุกว่า 500 ปี สันนิษฐานว่า ชื่อวัดมีที่มาจากพระนาม “พระมเหสีมณีจันทร์” พระชายาของพระนเรศวร ซึ่งเคยใช้พระนามแฝงว่า “แม่อิ” เป็นวัดที่สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งยกทัพขึ้นมารบกับหงสาวดี

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่ :


ช่วยแชร์ด้วยนะคะ