บ้านขนมปังขิง “ร้านกาแฟกึ่งพิพิธภัณฑ์” อายุกว่าร้อยปี

ช่วยแชร์ด้วยนะคะ

บ้านขนมปังขิง บ้านที่ถูกปิดมากว่าร้อยปีย้อนไปยังต้นกำเนิดของบ้านหลังนี้ ก่อนที่วันนี้จะกลายมาเป็น “ร้านกาแฟกึ่งพิพิธภัณฑ์”

      หากพูดถึงบ้านขนมปังขิง หลายๆ คนอาจจะคิดว่า บ้านหลังนี้ขายขนมปังรึเปล่า แต่จริงๆ แล้ว ชื่อนี้คือ สไตล์รูปแบบบ้านที่เป็นที่นิยมในช่วงสมัย รัชกาลที่ 4-5  ซึ่งเป็นแบบบ้านที่ได้รับอิทธิพลมาจากทางตะวันตก ที่เรียกว่า Gingerbread House หรือแปลเป็นไทยว่า “บ้านขนมปังขิง” เพราะลักษณะของการตกแต่ง ลวดลายฉลุที่สวยงามละเอียดอ่อนบนตัวบ้าน ที่มีความคล้ายคลึงกับ “ขนมปังขิง” หรือคุ้กกี้ที่ชาวยุโรปมักจะทำกินกันในเทศกาลคริสต์มาสนั่นเอง

      ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2456 หรือราวๆ 106 ปีก่อน ขุนประเสริฐทะเบียน (นายขัน) และอำแหน่งหน่าย สกุลพราหมณ์ ภรรยาได้ที่ดินมาแปลงหนึ่งซึ่งอยู่ในตรอกโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 47 ตารางวา

เมื่อนายขันได้ที่ดินแปลงนี้มาแล้ว ก็ได้สร้างบ้านในรูปแบบ “ขนมปังขิง” ขึ้นมา ตามสมัยนิยมขณะนั้น โดยนายขันได้ออกแบบบ้านเองทั้งหมด

รวมถึงตราสัญลักษณ์ชื่อของตนเอง ไว้ที่ช่องลมทุกช่องภายในบ้าน เป็นตราสัญลักษณ์ในช่องวงกลมอ่านได้ว่า “ขัน” หากใครได้มาที่บ้านนี้อยากให้ลองสังเกตุและอ่านกันดู ถ้าเปรียบสมัยนี้ คงเปรียบได้กับโลโก้ประจำตัว

ในสมัยนั้นคนยังนิยมอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ครอบครัวนายขันเองก็ไม่แตกต่างกัน ห้องต่างๆ จึงถูกซอยเป็นห้องเล็ก ห้องน้อย มีหน้าต่าง ช่องลมระบายอากาศ ทางเดินเชื่อมถึงกันทั้งหมด ทำให้คนอยู่อาศัยไม่รู้สึกอึดอัด ซึ่งแตกต่างจากบ้านสมัยนี้ที่แยกห้องกันปิดทึบไปซะหมด

      ที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่งภายในบ้านหลังนี้คือ “ลานสกา” นายขันเองนั้นมีงานอดิเรกอย่างนึงที่โปรดปรานมาก เรียกว่า “การเล่นสกา” ถึงกับสร้างระเบียงข้างบ้านออกมาไว้เป็นที่นั่งเล่น ยามเมื่อนัดพบปะเพื่อนฝูง หรือแขกคนสำคัญ ไม่ว่าใครไปใครมา นายขันมักจะชวนมานั่งเล่นตรงจุดนี้เสมอๆ ซึ่งคนภายในบ้าน ได้เรียกพื้นที่ตรงนี้ว่า “ลานสกา” ที่ยังคงความสมบูรณ์ในรูปแบบเดิมไม่มีผิดเพี้ยน

      นอกจากนี้ภายในบ้าน ยังมีเฟอร์นิเจอร์ชิ้นงาม ที่ท่านผู้หญิงเนื่อง (บุตรีของนายขัน) รักมาก ถึงกับเอ่ยปากไว้ว่า ห้ามย้ายโต๊ะเครื่องแป้งนี้ ออกจากบ้านหลังนี้เด็ดขาด ปัจจุบันได้วางไว้ในห้องมุกหกเหลี่ยม บนชั้นสองของตัวบ้าน ซึ่งยังความสภาพความสวยงามอยู่เช่นเดิม

ต้นมะม่วง ที่แผ่กิ่งก้านและใบ ปกคลุมให้ร่มเงาบ้านทั้งหลัง ยิ่งทำให้บ้านหลังนี้ดูอบอุ่น มีเสน่ห์และน่าหลงไหลมากขึ้นไปอีก ซึ่งมะม่วงต้นนี้ปลูกโดยลูกสาวของนายขัน หลังจากที่ย้ายเข้ามาบ้านหลังนี้แล้ว โดยคาดว่าน่าจะมีอายุเกือบๆร้อยปี เก่าแก่ไม่แพ้ตัวบ้านเลยทีเดียว โดยเป็นมะม่วงพันธุ์อกร่อง ที่ยังคงออกผล ให้ลูกหลานของบ้าน ได้เอามาทำข้าวเหนียวมะม่วงกินกันอยู่ทุกปี

      ในกาลเวลาต่อมา บ้านหลังนี้ก็ได้มีการสืบสายต่อกันมาในทายาทนั้นเอง ตามลำดับดังนี้

  •       1) ขุนประเสริฐทะเบียน (นายขัน)
  •       2) ท่านผู้หญิงเนื่องสนิท (บุตรีคนที่ 2 ของขุนประเสริฐทะเบียน)
  •       3) ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช (บุตรีของท่านผู้หญิงเนื่องสนิท) ทันตแพทย์ประจำพระองค์ของในหลวงรัชกาลที่ 9
  •       4) คุณธนัชพร คุณารัตนอังกูร (บุตรสาวท่านผู้หญิงเพ็ชรา)

      ซึ่งในยุคของท่านผู้หญิงเพ็ชรานั้นเอง ท่านมีเจตุจำนงค์ที่แน่วแน่ว่าห้ามมิให้ขายบ้านหลังนี้โดยเด็ดขาด แต่ให้อนุรักษ์ รักษาเอาไว้ เพื่อให้เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ โดยให้รักษาสภาพให้เหมือนเดิมมากที่สุด เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มาเรียนรู้ สัมผัส ซึมซับบรรยากาศ และที่สำคัญ เพื่อมิให้ผู้คนลืมรูปแบบบ้านในลักษณะนี้ โดยในขณะนั้น เมื่อ 30 กว่าปีก่อน คุณหมอสิทธิ์ (สามีท่านผู้หญิงเพ็ชรา) จึงลงมือทำป้ายชื่อ ด้วยมือของท่านเอง จะเรียกว่าเป็นงานแฮนเมดก็ว่าได้ ด้วยการแกะไม้ด้วยมือ และลงรักปิดทอง ไว้ที่ประตูหน้าบ้าน เป็นชื่อคำว่า “บ้านขนมปังขิง” บ้านหลังนี้จึงมีชื่อเรียก นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

      เมื่อกาลเวลาผ่านมาเนิ่นนานถึง 106 ปี ในที่สุด คุณธนัชพร ทายาทรุ่นที่ 4 ก็ได้ปรึกษากับทางคุณแม่ ท่านผู้หญิงเพ็ชราว่า หากเรายังทำการปิดบ้านไว้เช่นนี้ บ้านก็มีแต่จะทรุดโทรมลงไป เราควรจะทำอย่างไรกันดี ก็ได้มีการพูดคุยกัน จนในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่า จะมีการบูรณะซ่อมแซ่มบ้านหลังนี้อีกครั้ง โดยที่ให้ยังคงสภาพเหมือนเดิมมากที่สุด โดยไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ทาสี และซ่อมเฉพาะส่วนที่ชำรุดหนักๆเท่านั้นเอง เพื่อที่จะได้เห็นร่องรอยของอดีตที่ผ่านมา ผ่านริ้วรอยต่างๆ บนตัวบ้าน

“หากเราจะทำบ้านให้ใหม่นั้นไม่ยาก แต่หากเราจะทำบ้านให้เก่าคงเป็นไปไม่ได้ เพราะเราไม่สามารถย้อนอดีตได้”

      หนึ่งในบทสนทนา ของเจ้าของบ้าน ที่ได้กำชับกับทางช่าง ไม่ให้ทาสี หรือแก้ไขริ้วรอยต่างๆ ภายในบ้าน โดยย้ำว่า ถ้าสิ่งใดยังอยู่ได้ ก็ขอให้ปล่อยไว้อย่างนั้น ให้ทุกอย่างเหมือนเดิมมากที่สุด

      หลังจากบูรณะเสร็จสิ้นแล้ว วันนี้จึงได้ถือกำเนิด “บ้านขนมปังขิง” ร้านกาแฟกึ่งพิพิธภัณฑ์ ขึ้นมา เพื่อให้คนได้ไม่ลืมที่มาของชื่อ บ้านขนมปังขิง นั่นเอง

      หากใครอยากมาลองสัมผัส บ้านขนมปังขิง ว่าเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว คนสมัยนั้น เคยอยู่กันอย่างไร ใช้ชีวิตในแบบไหน ในรูปแบบบ้านที่เหมือนเดิมมากที่สุด สามารถมาชม และเลือกทานเครื่องดื่มได้ทุกวัน

#ข้อมูลร้าน บ้านขนมปังขิง เสาชิงช้า

  1. ร้านเปิดทุกวัน จันทร์-ศุกร์ เปิด 11.00-20.00 น. เสาร์-อาทิตย์ เปิด 09.00-20.00 น.
  2. หน้าร้านไม่มีที่จอดรถค่ะ ลูกค้าสามารถจอดได้ที่
    1. ที่รับฝากรถศาลเจ้าพ่อเสือ
    2. ที่รับฝากรถข้างครัวอัปษร
    3. ที่รับฝากรถโรงแรมศรีกรุงเทพ (ข้างศาลาว่าการกทม.)
    4. ที่รับฝากรถร้านรุ่งเรืองพาณิชย์
    5. ลานจอดรถวัดเทพธิดาราม
    6. หรือแนะนำมาแท็กซี่ จะดีสุดค่ะ เพราะแถวร้านจะหาที่จอดค่อนข้างยากและเต็มเร็วค่ะ
  3. ที่ร้านขายเครื่องดื่ม ขนมไทย และเค้ก ไม่มีอาหารคาวค่ะ
  4. ร้านอยู่ซอยหลังโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า (ไม่ใช่ถนนพระอาทิตย์ ป้อมพระสุเมรุ นะคะ ) เนื่องจากตอนนี้มีลูกค้าไปผิดหลายท่านค่ะ
  5. กรณีเดินทางโดย MRT ลงสถานีสามยอด และเดินมาทางเสาชิงช้าประมาณ 700 เมตรค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ : บ้านขนมปังขิง เสาชิงช้า

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่ :


ช่วยแชร์ด้วยนะคะ