“พระแม่ย่านางเสือง” พระราชินีพระองค์แรกในประวัติศาสตร์

ช่วยแชร์ด้วยนะคะ

พระแม่ย่านางเสือง กราบขอพรโชคลาภร่ำรวยอำนวยวาสนา พระราชินีคู่พระทัย “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์” กษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัย

เที่ยวศาลพระแม่ย่านางเสือง จังหวัดสุโขทัย กราบขอพรโชคลาภร่ำรวยอำนวยวาสนา พระราชินีคู่พระทัย “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์” และพระราชมารดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัย

เพื่อเทิดพระเกียรติและสดุดีคุณงามความดีถวายแด่ “แม่ย่านางเสือง” พระราชินีไทยพระองค์แรกในจารึกประวัติศาสตร์ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการกอบกู้อาณาจักรสุโขทัย พระราชินีคู่พระทัย “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์” และพระราชมารดาของทั้งสองกษัตริย์ไทยแห่งอาณาจักรสุโขทัย คือ พ่อขุนบานเมือง และพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

ขออนุโมทนาถวายเทิดพระเกียรติ และยกย่องเชิดชูเพื่อน้อมรำลึกถึงคุณงามความดีของพระแม่ย่านางเสืองที่พระองค์เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการกอบกู้อาณาจักรสุโขทัย เพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทยให้ลูกหลานไทยได้อาศัยอยู่มาตราบจนเท่าทุกวันนี้

“พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง ภูพี่น้องท้องเดียวห้าคน ผู้ชายสาม ผู้หญิงสอง พี่เผือผู้อ้ายตายจากเผื่อเตียมแต่ยังเล็ก”

นี่เป็นโองการประกาศในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เนื้อความบนหลักที่ 1 ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 1-3 อันเป็นหลักฐานทางวรรณกรรมชิ้นเอกและชิ้นแรกที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื้อความที่ว่า พ่อกูชื่อขุนศรีอินทราทิตย์ นั้น หลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็คือ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วง เป็นกษัตริย์พระองค์แรกแห่งประวัติศาสตร์ไทย ทรงครองราชย์ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 1781 ตราบจนเสด็จสวรรคตเมื่อพุทธศักราช 1811 เป็นเวลาร่วม 30 ปี พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ มีอัครมเหสีพระนามว่า “นางเสือง”

นางเสืองคือใคร? คนยุคสมัยนี้คงสงสัยว่าท่านเป็นใคร และมีความสำคัญอย่างไรกับประวัติศาสตร์ไทย ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หลักที่ 1 เนื้อความที่ว่า “แม่กูชื่อนางเสือง” นั้น พระองค์เป็นพระอัครมเหสีในพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และเป็นพระราชมารดาของพระมหากษัตริย์ไทยอีก 2 พระองค์ คือ พ่อขุนบาลเมือง และพ่อขุนรามคำแหง ฉะนั้น นางเสือง จึงเป็นสตรีไทยคนแรก ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดที่ปรากฎในประวัติศาสตร์เมื่อ 700 กว่าปีมาแล้ว พระนามของพระองค์สลักอยู่บนหิน แต่ไม่มีนักประวัติศาสตร์คนใด เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพระนางไว้เลย

เรื่องราวพระราชประวัติของแม่ย่านางเสือง สตรีสมัยกรุงสุโขทัย ผู้เป็นอัครชายาของเจ้าเมือง เป็นสตรีผู้อยู่เบื้องหลังการกอบกู้อาณาจักรสุโขทัยให้พ้นจากการรุกรานของขอม เมื่อปี พ.ศ.1800 เป็นสตรีผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ พระองค์ทรงเป็นคู่พระทัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และเป็นพระราชินีพระองค์แรกในจารึกประวัติศาสตร์ไทย

พระราชประวัติของพระแม่ย่านางเสือง มีประวัติค่อนข้างน้อยนัก พระราชสมภพเมื่อใด ที่ไหน หรือสวรรคตเมื่อใด ไม่ทราบความ แต่ปรากฏพระองค์ครั้งแรกและครั้งเดียวจากเนื้อความในจารึกพ่อขุนรามคำแหงเท่านั้น

ส่วนพระนาม “เสือง” นี้ เป็นภาษาลาว แปลว่า “รุ่งอรุณ” สอดคล้องกับพระนามพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ที่มีความว่า “ผู้ทรงไว้ซึ่งความสว่าง” ทั้งนี้มีการสันนิษฐานกันว่า นางเสือง อาจจะเป็นพระภคินีของพ่อขุนผาเมืองก็เป็นได้

มีข้อสันนิษฐานว่า ราชินีพระองค์นี้ คงเป็นชาวเมืองบางยาง หรือ เมืองนครไทยในจังหวัดพิษณุโลกปัจจุบัน เพราะก่อนที่พ่อขุนบางกลางท้าวจะมาครองกรุงสุโขทัย ก็เคยเป็นเจ้าเมืองบางยางมาก่อน และเมื่อเป็นเจ้าเมือง ก็ย่อมมีพระอัครชายา และต้องเป็นคู่ทุกข์คู่ยากกันด้วย เพราะเป็นสมัยที่สร้างตัวสร้างเมืองและสร้างประเทศ ด้วยเหตุนี้ เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ครองกรุงสุโขทัย ก็คงไม่เลือกเอาชาวสุโขทัยเป็นพระบรมราชินี ดังนั้น นางเสือง จึงไม่ใช่ชาวสุโขทัย

นางเสือง เป็นสตรีผู้เฉลียวฉลาด และรอบรู้ ดังจะสังเกตได้จากราชบุตร คือ พ่อขุนรามคำแหง ซึ่งทรงความเป็นปราชญ์อย่างสมบูรณ์ รวมเป็นมหาราชองค์แรก เมื่อพระองค์เป็นโอรสของนางเสือง พระองค์ฉลาด พระราชมารดาก็ย่อมฉลาดด้วย สมัยนั้นกษัตริย์ต้องกรำอยู่กับการศึกและการปกครอง ต้องปล่อยให้งานบ้านงานเรือนตกเป็นหน้าที่ของมเหสี

นางเสือง เป็นพระราชินีที่รักโอรส ธิดา เป็นพิเศษ พระองค์มีความชำนาญในเรื่องการครองเรือนเป็นอย่างดี ซึ่งมีข้อยืนยันจากศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง เนื้อความว่า

“มีกษัตริย์พระองค์ใดในโลก ที่บอกชื่อพ่อกูด้วยความภาคภูมิใจ มีกษัตริย์พระองค์ใดที่บอกชื่อแม่กูด้วยการให้เกียรติสตรี ยกย่อง เชิดชู มีพ่อขุนรามคำแหงเท่านั้นที่บอกด้วยภาษาไทยแท้ ที่เป็นภาษาของพ่อกู”

ข้อความเหล่านี้ แสดงว่า นางเสือง ได้อบรมพระราชโอรสให้มีความกตัญญู เคารพบิดามารดา และนางเสือง ยังสอนราชบุตรให้เป็นคนกล้าหาญ เป็นคนกล้าที่ยอมเสี่ยงชีวิตได้เสมอ นอกจากนี้ นางเสืองยังสอนราชบุตรให้ตั้งอยู่ในธรรมะ เลื่อมใสในพระบวรพระพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้ในศิลาจารึก ข้อความว่า

“คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักมักทานมักทรงศีล มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ชาวเจ้า ท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุนทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งผู้ชายผู้หญิง ฝูงท่วย มีศรัทธานพระพุทธศาสนา ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อออกพรรษา กรานกฐินเดือนหนึ่งจึงแล้ว”

ข้อสันนิษฐานอันดับต่อไป คือ นางเสือง เป็นสตรีที่สวยสง่า เนื่องจากในสมัยโบราณถือว่า หญิงมีความสำคัญน้อยกว่าชาย รูปสมบัติของสตรีสมัยสุโขทัยจึงทรงคุณค่ายิ่ง โดยเฉพาะผู้ที่จะเป็นอัครชายาของเจ้าเมือง

“ร.ต.ยิ่งศักดิ์ เฉลิมฉัตร์” รองหัวหน้าชุด ตข. หน่วยข่าวกรองทางทหาร กองพล เล่าเรื่องราวที่มาของคำว่า พระแม่ย่า ให้ทีมงานฟังว่า

“ทำไมจึงเรียกนางเสือง ว่า พระแม่ย่า สาเหตุที่เรียกว่า “พระแม่ย่า” นั้น เนื่องจาก คนสมัยก่อนนับถือกษัตริย์ว่าเป็นพ่อ ดังนั้น แม่ของพ่อกษัตริย์ จึงเรียกว่า ย่า ก็คือ ย่า ผู้เป็นแม่ของพระมหากษัตริย์ นั่นเอง” ประวัติของแม่ย่านางเสืองนั้น มีส่วนคล้ายพระประวัติของสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ในฐานะที่ทรงเป็นพระราชมารดาของพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงประเสริฐถึงสองพระองค์ ทรงเป็นแม่ย่า หรือ สมเด็จย่า ในรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ของคนไทยในยุคสมัยปัจจุบันแห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั่นเองครับ”

พระแม่ย่า เดิมนั้นประดิษฐานอยู่ที่ถ้ำพระแม่ย่า ตั้งอยู่ตำบลนาเชิงคีรี อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นเพิงชะโงกเงื้อมออกมาทางใต้ ประมาณ 3 เมตรเศษ พระแม่ย่าหันพระพักตร์ไปทางทิศใต้ตามเงื้อมเขาที่ยื่นล้ำออกมาทางด้านหลังเงื้อมผามีถ้ำตื้นๆ

องค์เทวรูปพระแม่ย่านี้ เป็นเทวรูปหิน สลักด้วยหินชนวน เป็นรูปสตรีวัยสาว มีเครื่องประดับอย่างสตรีโบราณผู้สูงศักดิ์ ประทับยืนตรง แขนทั้งสองข้างแนบพระวรกาย นุ่งผ้าปล่อยชายไหว เป็นเชิงชั้นทั้งสองข้างแบบศิลปการนุ่งผ้าสตรีสมัยสุโขทัย ไม่สวมเสื้อหรือสไบ เปลือยส่วนบนทั้งหมด เห็นพระถันทั้งสองเต้า ใส่กำไลแขน กำไลข้อมือ และกำไลข้อเท้าทั้งสองข้าง เป็นกำไลวงกลม มีพระพักตร์เป็นรูปไข่ คางมน พระโอษฐ์แย้มยิ้มน้อยๆ สวมมงกุฎเป็นแบบชฎาทรงสูง ที่พระบาทสวมรองพระบาทปลายงอน ยอดศิลาส่วนที่เหนือพระมงกุฎแตกบิ่นหายไปบ้าง ขนาดความสูงทั้งหมด 51 นิ้ว วัดจากพระบาทถึงยอดพระมงกุฎ สูง 49 นิ้ว ศิลาจำหลัก เป็นศิลาแท่งเดียวกันตลอด ไม่มีรอยต่อ…

ปัจจุบันศาลพระแม่ย่าจัดสร้างขึ้นใหม่ เริ่มดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2537 และดำเนินการก่อสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2541 ตั้งอยู่ที่ถนนประเวศนคร ตำบลธานี อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย มีการทำพิธีอันเชิญพระแม่ย่าเข้าประดิษฐาน ณ ศาลแห่งใหม่เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองสุโขทัย และจังหวัดสุโขทัยได้จัดให้งานพระแม่ย่าเป็นงานประจำปีของจังหวัดสุโขทัยด้วย โดยจะจัดในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

“ร.ต.ยิ่งศักดิ์ เฉลิมฉัตร์” เล่าต่อว่า

“ในเรื่องของพระมหากษัตริย์ที่ได้สร้างคุณงามความดีมิใช่น้อย ได้แก่ แม่ย่านางเสือง พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช โดยแม่นางเสืองก็ได้สั่งสอนอบรมลูก ที่เป็นพระมหากษัตริย์ จนได้สร้างคุณงามความดีทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และเป็นบิดาแห่งความรู้หรืออักษรศาสตร์ ดังนั้น ถามว่าพระมหากษัตริย์สำคัญกับแผ่นดินสยามแผ่นดินไทยของเราไหม สำคัญที่สุด ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มาเลย ดังนั้นจึงอยากให้ลูกหลานไทยได้สำนึกพระคุณท่านไม่มากก็น้อย อย่างน้อยเป็นการช่วยกันทำความดีเล็กๆน้อยๆ ถ้าเราเริ่มต้นวันนี้ ประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้าได้เจริญรุ่งเรืองครับ”

สถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์
ศาลพระแม่ย่า ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยม ในศาลาว่าการจังหวัดสุโขทัย ถนนประเวศนคร ตำบลธานี อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย
ถ้ำเขาพระแม่ย่า ตำบลนาเชิงคีรี อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย
อนุสาวรีย์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ปฐมกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรสุโขทัย ตั้งอยู่หัวมุมสามแยกวังวน ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย
พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย อนุสาวรีย์แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระมหากษัตริย์ในสมัยสุโขทัยผู้มีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่และทรงมีพระปรีชาสามารถนานัปการ
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย
รูปปั้นพระแม่ย่านางเสือง บ้านพักส่วนตัว ร.ต.ยิ่งศักดิ์ เฉลิมฉัตร์
รองหัวหน้าชุด ตข. หน่วยข่าวกรองทางทหาร กองพล
ขอขอบคุณภาพและบทสารคดี
โดย นริศรา อ่อนเรียน
ช่องยูทูป : ตามรอยอารยธรรม
เพจ Facebook : สารคดีตามรอยอารยธรรม

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่ :


ช่วยแชร์ด้วยนะคะ