เวที กมธ.พัฒนาการเมือง ชงแก้ไขกฎหมายกองทุนสื่อ หวังปลดล็อกอุปสรรค ให้คนทำสื่อได้เข้าถึงแหล่งทุน
กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ชี้แจง กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ยันพิจารณาจัดงบประมาณตามหลักเกณฑ์กฎหมาย ไม่อิงสื่อเล็กสื่อใหญ่
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 67 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เชิญ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมทั้งตัวแทนสื่อมวลชน เข้าร่วมหารือ เพื่อพิจารณาศึกษาทิศทางการดำเนินงานของสื่อมวลชนไทยในอนาคต
โดยกรรมาธิการ มีการสอบถามไปยังกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเด็นเรื่องของการเปิดโอกาสให้สื่อออนไลน์ สื่อภาคพลเมือง สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ โดยอาจต้องปรับแก้กฎระเบียบในส่วนนี้ก็น่าจะถือว่าเป็นอีกกลไกสำคัญในการช่วยกันขับเคลื่อนการทำงานของสื่อมวลชน
ขณะที่ประธานคณะกรรมการพัฒนาการเมืองฯ มองว่าโจทย์ใหญ่อีก 1 ประเด็น คือการสนับสนุนสื่อขนาดเล็ก โดยมีการสอบถามไปยังกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ว่าปัจจุบันมีหลักเกณฑ์ในการจัดสรรงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรกว่า 300 ล้านสำหรับผลิตสื่อว่าทางกองทุนมีการกำหนดหรือพิจารณาว่าสื่อไหนที่จะได้รับจัดสรรหรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับงบประมาณอย่างไร
ขณะที่ตัวแทนสื่อมวลชนเอง แสดงความเห็นโดยมองว่าควรใช้กลไกของสภาหรือกรรมาธิการฯในการขับเคลื่อนเพื่อพิจารณาจัดสรรงบประมาณ ให้กับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จากเดิมที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 500 ล้านบาท เป็น 3,000 ล้าน หรืออาจถึง 3 หมื่นล้านบาท ก็จะช่วยในการสร้างสื่อที่มีคุณภาพได้ และยังเป็นการสนับสนุนการทำอุตสาหกรรมสื่อ สร้างคนทำสื่อรุ่นใหม่ๆให้กล้าผลิตผลงานสื่อ
ด้านนางสาวสุธาทิพ ลาภสมภพ ผู้แทนกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ชี้แจงต่อกรรมาธิการ ว่ากองทุนสื่อฯได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ กทปส.ปีละ 500 ล้านบาท
โดยแบ่งเป็น 200 ล้านบาทสำหรับงบบริหารจัดการและค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร รวมถึงโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์กองทุนที่สำนักงานดำเนินการเอง และอีก 300 ล้านบาท เป็นการให้ทุน ซึ่งที่ผ่านมากองทุนฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 500 ล้านบาทมาโดยตลอดแม้อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2567 กองทุนฯได้จัดทำแผนของบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ล้านบาท แต่ถูกตัดงบประมาณลงเหลือแค่ 500 ล้านบาท ปี 2568 ก็จะพยายามขอเพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาทอีก
สำหรับงบประมาณสำหรับการให้ทุนวงเงิน 300 ล้านบาทนั้น จะแบ่งการให้ทุนเป็น 3 ประเภท ทั้งการให้ทุนประเภทเปิดรับทั่วไป (Open Grant) การให้ทุนประเภทเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Grant) และการให้ทุนประเภทความร่วมมือ (Collaborative Grant)
โดยการให้ทุนประเภทเชิงยุทธศาสตร์ จะได้รับการจัดสรรมากเป็นอันดับแรก โดยทางกองทุนได้กำหนดขอบเขตของโครงการหรือกิจกรรมการสนับสนุนทั้งประเด็นพหุวัฒนธรรมและความหลากหลายทางสังคม รวมทั้งทักษะการรู้เท่าทันสื่อและการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์
ขณะที่การให้ทุนประเภทเปิดรับทั่วไป นั้น จะเปิดกว้างมากที่สุดเนื่องจากจะเป็นกลุ่มบุคคลทั่วไป เด็กและเยาวชนรวมทั้งผู้พิการ ในการเสนอขอรับทุน
สุดท้ายคือการให้ทุนประเภทความร่วมมือ จะมุ่งเน้นไปที่องค์กรที่มีความร่วมมือกับกองทุนซึ่งจะเปิดกว้าง ให้กับผู้ที่เคยทำงานหรือเคย ดำเนินการร่วมกัน โดยที่ผ่านมามีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันกับหน่วยงานด้านสื่อที่หลากหลาย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทางกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์พร้อมให้การสนับสนุน การผลิตสื่อ โดยเฉพาะการทำงานด้านข่าวเต็มที่แต่เนื่องจากที่ผ่านมาข้อเสนอด้านข่าวมีจำนวนน้อยมากที่ยื่นขอรับทุน
“ซึ่งจริงๆแล้วบุคลากรด้านข่าว ไม่ยากเลยที่จะเข้ามาขอรับการจัดสรรทุนแต่มันจะมีกำแพง ที่นักข่าวกลัวคือเรายังอยู่ภายใต้การตรวจสอบงบประมาณตามระบบราชการ การให้ทุนของเรามันก็ไม่ต่างกับการยืมเงินราชการไปต้องทำผลงาน ต้องมีใบเสร็จทำให้คนทำงานข่าวจะไม่อยากทำงานกับเรา อันนี้คือเป็นจุดเล็กๆที่ทำให้เกิดความไม่คล่ิองตัว ซึ่งกองทุนกำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงระเบียบข้อบังคับให้สามารถตอบสนองให้การจัดสรรทุนสามารถตอบสนองต่อกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น“
ผู้แทนกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ยังชี้แจงเพิ่มเติมว่า องค์กรสื่อไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ไม่ได้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ โดยจากสถิติ จะพบว่ากว่าจะ 70% จะเป็นบุคคลทั่วไป รองลงมาจะเป็นสถาบันการศึกษา สถาบันของรัฐมูลนิธิและองค์กรภาคประชาสังคม
ขณะที่การจัดสรรทุนในปี 2567 นั้นอยู่ระหว่างการพิจารณากลั่นกรอง มีผู้ยื่นขอรับการสนับสนุนจำนวน 1,137 โครงการ งบประมาณที่ขอกว่า 5 พันล้านบาท ในขณะที่กองทุนมีงบประมาณเพียง 300 ล้านบาท
โดยทางกองทุนทำงานอย่างเต็มที่เพื่อที่จะคัดกรอง ทุกโครงการ เพื่อให้มีความละเอียดรอบคอบและมีคุณภาพของโครงการ ภายใต้การทำงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้
“ทั้งหมดคือสิ่งที่กองทุนพัฒนาสื่อพยายามขับเคลื่อน ภายใต้ข้อจำกัดทางกฎหมายแต่ทุกคน, ทุกหน่วยงานก็พยายามจะทำเพื่อ ให้มีการผลิตสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ตามจุดประสงค์ของกองทุน”
ด้านนางสาวภคมณ หนุนอนันต์ กรรมาธิการฯ มองว่าสิ่งที่มันควรจะเกิดขึ้น เราอยากให้กองทุนสื่อเป็นที่พึ่งของสื่อมวลชน สร้างคนข่าวที่มีคุณภาพ
ส่วนงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรนั้นก็เข้าใจว่ามีจำนวนที่จำกัดและไม่เพียงพอ ส่วนความคาดหวังในฐานะ กรรมาธิการ ก็อาจจะต้องมีการแก้กฎหมายของกองทุนสื่อ ให้กองทุนสามารถทำงานอย่างอิสระ รวมทั้งการเพิ่มงบประมาณ ในการจัดสรรให้กับกองทุน
ขณะเดียวกันอยากเสนอให้มีการเสวนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นในการดำเนินการเพื่อแก้ไขกฎหมาย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พศ.2558
โดยเชิญสื่อมวลชน และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมให้ข้อมูลทั้งเรื่องของการปรับหลักเกณฑ์การขอทุน เพื่อสร้างสื่อมวลชนให้มีคุณภาพ รวมถึงข้อจำกัด ในการที่จะร่วมปลดล็อก เพื่อประโยชน์ในการสร้างสรรค์ ของคนทำข่าว , คนทำสื่อ อย่างแท้จริงด้วย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่ :