“อิ่มท้อง ของครบ รบเงียบ เฉียบบริการ”

ช่วยแชร์ด้วยนะคะ

“อิ่มท้อง ของครบ รบเงียบ เฉียบบริการ” รถครัวสนาม อีกหนึ่งยุทโธปกรณ์จากกองทัพ ที่คอยช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในทุกสถานการณ์

จากสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน กองทัพบกได้ดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนมาโดยตลอดเท่าที่จะสามารถช่วยเหลือได้ โดยเฉพาะการดูแลในเรื่องของปากท้องให้กับผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ต่างๆ ที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่สามารถสังเกตุและพบเห็นได้อยู่เป็นประจำเสมอ นั่นคือรถ 6 ล้อสีเขียวขี้ม้าที่จอดอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ที่บนรถจะมี จนท. ทหารที่กำลังต้ม ผัด แกง ทอด ประกอบเมนูต่างๆ วุ่นอยู่ตลอดเวลา เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนและ จนท.หรือบุคลากรทางการแพทย์ต่างๆ ที่จะมาเข้าคิวรอรับอาหารกล่องเพื่อนำไปทานกันอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ ซึ่งรถคันนี้ ก็คือรถครัวสนามของกองทัพบกนั่นเองครับ

และถึงแม้จะไม่ใช่ยุทโธปกรณ์ในการรบอย่างเช่นรถถังหรือยานเกราะ แต่บทบาทของรถครัวสนามที่กล่าวถึง ก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ารถรบเหล่านั้นเลย ซึ่งในวันนี้แอดมินจะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับรถครัวสนามกันอย่างละเอียด รวมไปถึงบทบาทและความสำคัญของยุทโธปกรณ์ชนิดนี้กันอีกครั้งครับ

ก่อนอื่นเลย ก็ขอย้อนไปถึงความเป็นมาของรถครัวสนามกันเสียก่อน รถครัวสนาม คือยุทโธปกรณ์ชนิดหนึ่งในสายเหล่าทหารพลาธิการ ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อปี 2547 ในเหตุการณ์สึนามิพัดถล่มจังหวัดทางภาคใต้ของไทย ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมากมายประเมินค่าไม่ได้ กองทัพบกเองในขณะนั้นได้ส่งกำลังพลต่างๆ ทั้งทีมแพทย์ทหาร ชุดพยาบาลทหารบก พร้อมยุทโธปกรณ์ต่างๆ เข้าช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงมีการต่อรถครัวสนามขึ้นมาเพื่อประกอบอาหารเลี้ยงทั้งประชาชนและ จนท. โดยครัวสนามแรกเริ่มในตอนนั้นเป็นรถพ่วงแบบลากจูงจำนวน 2 คัน และเมื่อนำเข้าไปในพื้นที่ประสบภัยแล้ว มันก็แสดงศักยภาพออกมาให้เห็น ด้วยการผลิตอาหารออกแจกจ่ายให้กับประชาชนและ จนท. อย่างต่อเนื่องได้เป็นจำนวนไม่น้อยในแต่ละวันในขณะนั้น

แต่ถึงแม้จะมีประสิทธิภาพ แต่ด้วยจำนวนที่มีเพียงแค่ 2 คัน ก็ไม่สามารถที่จะผลิตอาหารแจกจ่ายให้กับประชาชนได้ทั่วถึง แต่ ณ ตอนนั้นก็มีหน่วยงานและองค์ต่างๆ หลายองค์กรที่สนับสนุนข้าวปลาอาหารและน้ำดื่มให้กับประชาชนและ จนท.ต่างๆ อีกเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน จนสถานการณ์คลี่คลายลง และสามารถผ่านพ้นเหตุการณ์ในครั้งนั้นมาได้

หลังจากเหตุการณ์สึนามิผ่านพ้นไป กองทัพบกได้เล็งเห็นความสำคัญของรถครัวสนาม ที่จะสามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นในอนาคต เพราะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือพิบัติภัยต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้มีการจัดสร้างรถครัวสนามเพิ่มอีก 4 คัน และส่งไปประจำตามกองทัพภาคต่างๆ ทัพภาคละ 1 คัน

แต่ถึงแม้รถครัวสนามเหล่านี้จะออกปฏิบัติหน้าที่อยู่เสมอ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือประชาชนจากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเหตุการน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดต่างๆ เช่นลพบุรี โคราช อยุธยา สงขลา สุราษฎร์ธานี จนมาถึงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ครัวสนามเคลื่อนที่กองทัพบกนี้ ก็ได้ออกปฏิบัติภารกิจของมันอย่างไม่หยุดหย่อน แม้แต่เหตุการณ์ปะทะกันที่เขาพระวิหาร ทบ. ก็จัดรถครัวสนามเข้าไปในพื้นที่ ทำอาหารแจกจ่ายให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจนเหตุการณ์กลับสู่ภาวะปกติ

จากปัญหาข้อขัดข้องดังกล่าว กองทัพบกจึงได้มีการจัดสร้างรถครัวสนามเพิ่มเติม รวมถึงปรับปรุงให้มีความทันสมัยและเพิ่มประสิทธิภาพให้มีมากขึ้น จากเดิมที่เป็นรถพ่วง ก็เปลี่ยนมาเป็นรถ 6 ล้อที่มีอุปกรณ์จำเป็นในการประกอบอาหารครบถ้วนในคันเดียว เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้ายไปตามสถานที่ต่างๆ ได้อย่างคล่องตัวอย่างที่พวกเราเห็นกันทุกวันนี้นี่ล่ะครับ และจากเดิมที่มีเพียงแค่หลักหน่วย ก็เพิ่มมาเป็นหลักสิบ จนปัจจุบันนี้ กองทัพบกมีรถครัวสนามอยู่ในประจำการราวๆ 160 คัน กระจายอยู่ตามหน่วยทหารต่างๆ ทั่วประเทศ

***สำหรับข้อมูลทางเทคนิคนั้น “รถครัวสนาม” เป็นรถครัวสำหรับประกอบเลี้ยงให้กับกำลังพล (หน่วยทหารระดับกองร้อย) ในการปฏิบัติภารกิจของทางราชการ งานในราชการสนาม และประกอบเลี้ยง ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัยหรือตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย เป็นรถ 6 ล้อ ความยาวส่วนบรรทุก 5.5 เมตร กว้าง 2 เมตร เครื่องยนต์ดีเซล 5000 cc ติดกล้องสำหรับมองภาพด้านหน้า/หลัง ด้านหลังติดไฟพรางทางยุทธวิธี มีอุปกรณ์สำหรับประกอบเลี้ยง และชุดเลี้ยงดูวางอยู่ในตำแหน่งส่วนบรรทุกส่วนครัวทั้งด้านขวาและด้านซ้าย โดยส่วนบรรทุกส่วนครัวด้านขวาประกอบด้วยอ่างล้างจาน, ปั๊มน้ำพร้อมอุปกรณ์และระบบเชื่อมต่อน้ำภายนอก, หัวเตาแก๊ส 2 หัวเตาพร้อมโครง, เตาสำหรับวางกระทะและหม้อต้ม, เตาทอดอาหารแบบ Deep–Frying, ตู้เก็บของ และถังเก็บน้ำดื่มขนาดไม่น้อยกว่า 200 ลิตร ชนิดเปิด – ปิดด้วยเท้าเหยียบ สำหรับส่วนครัวด้านซ้ายประกอบด้วยถังบรรจุข้าวสารขนาด 60 กก., หม้อหุงข้าวแบบใช้แก๊สขนาดความจุ 10 ลิตร จำนวน 4 หม้อ, ตู้เก็บของและถังแก๊สขนาดความจุแก๊ส 48 กิโลกรัมจำนวน 4 ถัง, ตู้แช่แบบบานเปิด 4 บาน ความจุ 36 คิวบิก, ตู้เก็บของ, ถังหูหิ้ว กระทะใบบัว, หม้อต้ม, เครื่องบด/สับอาหาร, โต๊ะประกอบเลี้ยง และมีระบบไฟส่องสว่างในจุดต่างๆ ของตัวรถ

โดยรถครัวสนาม 1 คัน จะมี จนท.ทหารประจำรถทั้งหมด 12 นาย แบ่งเป็นนายทหารควบคุมรถ 1 นาย, จ่า/นายสิบทำหน้าที่พลขับ 2 นาย, ช่างประจำรถ 2 นาย, พ่อครัว 2 นาย, และน้องๆ พลทหารอีก 5 นายคอยเป็นลูกมือ แต่ที่บอกไปนั่น ก็คือการแบ่งตามอัตราการจัดครับ พอถึงเวลาจริงทุกๆ คนก็จะมาช่วยเหลือในการประกอบอาหารกันทั้งหมดนั่นล่ะครับ ไม่มีใครที่จะทำแต่หน้าที่หลักของตนเองอย่างเดียว สุดท้ายทั้ง 12 นายนี้ก็จะทำงานร่วมกันเป็นทีม เรียกว่าทีมครัวสนาม และโดยประสิทธิภาพของรถครัวสนามนี้ ร่วมกับทีมครัวสนามประจำรถ ทำให้สามารถผลิตข้าวกล่องได้ถึง 3000 กล่อง/มื้อ/คัน

และนอกจากประสิทธิภาพในการผลิตแล้ว การประกอบอาหารแต่ละวัน พ่อครัวก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนเมนูอยู่ตลอด เพื่อไม่ให้เกิดความน่าเบื่อจำเจ และที่สำคัญต้องสะอาด ถูกหลักอนามัย เห็นแบบนี้แล้วรู้เลยว่าทหารเหล่าพลาฯ ก็เหนื่อยไม่น้อยไปกว่าเหล่าอื่นๆ ยิ่งในช่วงที่เกิดภัยพิบัติหรือเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ พวกเขาเหล่านี้ต้องระดมลงแรงกันโดยไม่ได้หยุด เพื่อให้มีอาหารแจกจ่ายประชาชนอย่างต่อเนื่อง แต่ถึงจะเหนื่อยแค่ไหน แต่พอเห็นรอยยิ้มของประชาชนที่มารับอาหารรับข้าวกล่องไปกินกัน พวกเขาก็หายเหนื่อย

และในตอนนี้ที่สถานการณ์โควิด-19 ที่บ้านเรายังคงอยู่ในภาวะวิกฤติ ผู้บัญชาการทหารบกก็ได้มีการเน้นย้ำให้หน่วยทหารทุกหน่วยให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในด้านปากท้องประชาชน ผบ.ทบ. ได้เน้นย้ำให้รถครัวสนามทุกคัน ออกให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายและกลับสู่ภาวะปกติ

และในสถานการณ์โควิด-19 นี้ แสดงให้เห็นได้ชัดเจน ว่าเหล่าทหารพลาธิการและรถครัวสนามของพวกเขาเหล่านี้ มีบทบาท หน้าที่ และความสำคัญมากแค่ไหน

วิกฤตินี้ แม้แต่ทหารแพทย์ที่ว่าอยู่แนวหน้า ก็ยังต้องพึ่งทหารพลาฯ เรื่องปากท้องเลย

#กองทัพบก#ครัวสนาม#เหล่าทหารพลาธิการ

#โควิด19#ช่วยเหลือประชาชน

#smartsoldiersstrongarmy

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่ :


ช่วยแชร์ด้วยนะคะ