วัดพรานนก ร่วมด้วยชาวพระนครศรีอยุธยา จัดพิธีเทิดพระเกียรติฉลองวันชัยชนะ 4 มกราคม “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”
วัดพรานนก ร่วมด้วยชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดพิธีถวายราชสดุดีวีรกรรม “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” เทิดพระเกียรติฉลองวันชัยชนะ 4 มกราคม
วัดพรานนก ต.โพสาวหาญ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา จัดพิธีถวายราชสักการะและถวายราชสดุดีเทิดพระเกียรติ เนื่องในโอกาสวัน “ฉลองชัยชนะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ครบรอบ 256 ปี
วันที่ 4 มกราคม 2565 ณ บริเวณอนุสรณ์สถานบ้านพรานนก วัดพรานนก ตำบลโพสาวหาญ อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำโดย พระครูพิศิษฎ์บุญญากร เจ้าอาวาสวัดพรานนก และ พระครูสังฆรักษ์ฐีติพงษ์ ฐานิสฺสโร เลขาส่วนตัวเจ้าอาวาสวัดพรานนก เลขาส่วนตัวเจ้าคณะตำบลสามบัณฑิต (พระครูเสกสม) นำโดย นายสมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานในพิธีวางพุ่มดอกไม้สด พิธีบวงสรวง และเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อถวายราชสักการะและกล่าวราชสดุดีเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เนื่องในวัน “ฉลองชัยชนะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ครบรอบ 256 ปี เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และวีรกรรมความกล้าหาญของพระองค์ ให้อนุชนรุ่นหลังได้เคารพสักการะ และยึดถือพระวีรกรรมอันยิ่งใหญ่เป็นเยี่ยงอย่างสืบไปภายภาคหน้า
รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า “วันนี้ 4 มกราคม 2565 ตรงกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันเสาร์ขึ้น 4 ค่ำ เดือนยี่ จุลศักราช 1128 ตรงกับวันที่ 3 มกราคม ปี พ.ศ. 2309 พม่าได้ล้อมกรุงศรีอยุธยา บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะคับขัน โดยขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้รวบรวมสมัครพรรคพวกได้ราว 500 คน ได้ตีฝ่าวงล้อมออกไปทางค่ายพิชัย เพื่อพักพลและหาเสบียงอาหารและพักแรม ณ บ้านพรานนก แต่วันรุ่งขึ้นพม่าได้ยกกำลังติดตามมาอีก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงตัดสินพระทัยเสด็จทรงม้า พร้อมด้วยทหารเอกคู่พระทัยอีก 4 ท่าน เข้าต่อสู้กับทหารพม่าอย่างห้าวหาญ จนได้รับชัยชนะอย่างงดงามในรุ่งเช้าของวันที่ 4 มกราคม ปี พ.ศ. 2309 ทำให้ชาวไทยหลุดพ้นจากวิกฤตการณ์อันเลวร้ายนั้นมาจนถึงปัจจุบัน”
ดังนั้นวันที่ 4 มกราคม ของทุกปี จึงเป็นวันที่ชาวไทยและชาวพระนครศรีอยุธยา จะร่วมใจกันน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่าน โดยการจัดพิธีบวงสรวงและวางพุ่มดอกไม้สด บริเวณหน้าพระบรมราชาอนุสาวรีย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พร้อมทั้งจัดพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยมีข้าราชการ พลเรือน ตุลาการ อัยการ ทหาร ตำรวจ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้บริหารและสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักเรียน นักศึกษา สมาคม มูลนิธิ พ่อค้า และประชาชนชาวบ้านพรานนก เข้าร่วมพิธี และได้มีผู้มีจิตศรัทธา นำโดย อาจารย์เลิศ บูรพา นำปืนใหญ่ จำนวน 12 กระบอก มามอบไว้เพื่อถวายเป็นเครื่องราชสักการะ ณ บริเวณอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งนี้อีกด้วย
พระครูพิศิษฎ์บุญญากร เจ้าอาวาสวัดพรานนก ได้เล่าถึงเรื่องราวเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวีรกรรมของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชว่า เมื่อพระองค์เห็นข้าศึกประมาทก็ชักม้าถอยหนีเข้าสู่แดนสังหาร เมื่อพม่าเข้ามาอย่างไม่ทันระวัง กองรบปีกกาซ้ายขวาก็บุกโจมตี ทัพพม่าที่มากกว่าก็พ่ายแพ้ยับเยิน การวางกลยุทธ์ที่หลักแหลมและความเหี้ยมหาญการศึก ก็สามารถทำให้กองรบของพระเจ้าตากชนะได้อย่างเด็ดขาดสวยงาม ย่อมแสดงให้เห็นถึงการใช้คุณลักษณะของทหารม้าในการรบ นั่นคือ ความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่ และความรวดเร็วในการเข้าทำลายล้างอย่างสมบูรณ์ ทหารม้าจึงยกย่องพระองค์เป็นบูรพาจารย์แห่งการรบบนหลังม้า และเป็นพระบิดาของเหล่าทหารม้าของเรา และได้ถือเอาวันที่พระองค์ท่านได้สร้างวีรกรรมในครั้งนั้น คือวันที่ 4 มกราคมของทุกปี เป็น “วันทหารม้า”
“ยุทธการครั้งนี้ยังก่อให้เกิดตำนานอันเป็นที่มาของสถานที่ในปัจจุบันอีกหลายแห่ง ทั้งในย่านนั้นจนถึงกรุงเทพฯ เมื่อพระยาตากสินตีฝ่าวงล้อมของพม่าออกมาจากกรุงศรีอยุธยานั้น ชาวบ้านแห่งหนึ่งได้ส่งข้าวเม่าให้เป็นเสบียงของทหาร อีกหมู่บ้านหนึ่งก็ส่งธนูให้เป็นอาวุธ หมู่บ้านทั้ง 2 แห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า “บ้านข้าวเม่า และ “บ้านธนู” ปัจจุบันทั้ง 2 หมู่บ้านเป็นตำบลอยู่ในอำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เมื่อเดินทัพมาถึงคลองแห่งหนึ่งได้เกิดปะทะกับทหารพม่า ทรงได้ชัยชนะในจุดนี้ ต่อมาคลองนั้นจึงได้ชื่อว่า “คลองชนะ” ทหารพม่ายังติดตามพระยาตากไปอย่างไม่ลดละ และตามไปทันที่บ้านโพธิ์สังหาร ได้มีหญิงชาวบ้านคนหนึ่งชื่อนางโพธิ์กับน้องสาว ได้มาช่วยรบกับพม่าจนตัวตาย ทำให้พระยาตากได้รับชัยชนะอีกครั้งหนึ่ง เมื่อกู้ชาติได้แล้วทรงระลึกถึงวีรกรรมของนางโพธ์ จึงพระราชทานชื่อใหม่ให้หมู่บ้านโพสังหาร เป็น “โพธิ์สาวหาญ” ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน”
ส่วน “บ้านพรานนก” ในตำบลโพธิ์สาวหาญ ซึ่งเป็นสถานที่ทำยุทธการครั้งสำคัญจนเป็นที่มาของวันทหารม้า ก็มี เฒ่าคำ ซึ่งมีเรียกกันว่า พรานนก ได้อาสามาช่วยจัดหาเสบียงส่งให้กองกำลังของพระยาตาก จึงถือกันว่าเป็นบุคคลสำคัญในยุทธการครั้งนี้ด้วย ปัจจุบันวัดพรานนก ยังเป็นที่ตั้งของพระพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและอนุสรณ์สถานพรานนก เพื่อระลึกถึงวีรกรรมของบรรพบุรุษนักรบไทย และมีรูปปั้นพรานนกเป็นที่ระลึกอยู่ที่วัดพรานนก อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ขอขอบคุณภาพจาก : พระครูสังฆรักษ์ฐีติพงษ์ ฐานิสฺสโร เลขาส่วนตัวเจ้าอาวาสวัดพรานนก เลขาส่วนตัวเจ้าคณะตำบลสามบัณฑิต (พระครูเสกสม)
ภาพและข่าวโดย นริศรา อ่อนเรียน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่ :