เกร็ดประวัติศาสตร์ “นครวัด” จำลองในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดให้จำลองนครวัดมาไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี พ.ศ. ๒๕๒๕
วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๑๐
ในยุคสมัยแผ่นดินของ “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔” เมืองเสียมราฐอันเป็นที่ตั้งของ “ปราสาทนครวัด” ขึ้นอยู่กับราชอาณาจักรสยาม ซึ่งพระองค์ทรงเห็นว่าในแผ่นดิน มีปราสาทหินมากมายถึง ๗๒ แห่ง เป็นมหัศจรรย์สถาปัตยกรรมที่มีความสวยงามเป็นอย่างยิ่ง ในเบื้องต้นนั้น พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์จะให้ช่างไปรื้อปราสาทหินแห่งใดแห่งหนึ่งมาสร้างใหม่ ที่กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ราษฎรไทยได้เข้าชมศึกษาเรียนรู้ แต่เมื่อขุนนางไทยไปถึงเมืองเสียมราฐ กลับพบอุปสรรคว่าปราสาทหินแต่ละแห่งนั้นมีขนาดใหญ่โตเกินกำลังที่จะขนย้ายเข้ามาสร้างใน กรุงเทพมหานครได้ พระองค์จึงโปรดฯ ให้พระยาสามภพพ่าย ไปเขียนลอกแบบปราสาทนครวัดมา โดยวัดส่วนกว้าง ส่วนยาว ส่วนสูงอย่างละเอียด รวมทั้งลวดลายต่าง ๆ ทุกซอกทุกมุม ซึ่งใช้เวลาร่วม ๔ เดือน การเขียนแบบจึงสำเร็จ เพื่อใช้เป็นต้นแบบมาสร้างจำลองไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม การก่อสร้าง “นครวัดจำลอง” เริ่มขึ้นเมื่อ “วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๑๐” แล้วเสร็จในรัชสมัย “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕” ราวปี พ.ศ. ๒๔๒๕ และทันเสร็จในการเฉลิมฉลองพระนครครบ ๑๐๐ ปีพอดี นายช่างผู้ที่จำลองแบบ คือ “ม.จ.ประวิช ชุมสาย” พระโอรสของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม ทรงรับราชการในกรมช่างศิลาและกรมช่างสิบหมู่ “ปราสาทนครวัดจำลอง” ได้รับการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่อีกครั้ง ในงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี พ.ศ. ๒๕๒๕
